นายแกรี่ เวนย์ เด็นสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัทซิกน่า ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ผู้เชี่ยวชาญด้านประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลและประกันสุขภาพผ่านช่องทางเทเลมาร์เก็ตติ้งและการตลาดทางตรงในประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลประกอบการปี 2554 ที่ผ่านมา เป็นปีที่บริษัทฯ เติบโตอย่างก้าวกระโดดและอย่างมีนัยสำคัญมาก โดยสรุปคือ ณ สิ้นปี 2554 บริษัทฯ มีเบี้ยประกันรับปีแรก (ยอดขาย : ANP) รวมทั้งสิ้น 1,340 ล้านบาท มากกว่าเบี้ยประกันภัยรับปีแรก ณ สิ้นปี 2553 ที่มีเบี้ยอยู่ 994 ล้านบาท คิดเป็นยอดเติบโตถึง 35% ซึ่งซิกน่า ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีอัตราเติบโตของยอดขายสูงที่สุดในกลุ่มธุรกิจ Cigna International HL&A (8 ประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิก) นอกจากนี้ ในส่วนของเบี้ยประกันภัยรับสุทธิ (NWP) ณ สิ้นปี 2554 อยู่ที่ 1,291 ล้านบาท (เป็นตัวเลขที่รอผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจสอบ) ซึ่งเติบโตขึ้นถึง 80% เมื่อเทียบกับเบี้ยประกันภัยรับสุทธิ ณ สิ้นปี 2553 ที่มีอยู่ 717 ล้านบาท
และสำหรับรายได้รวม ณ สิ้นปี 2554 นั้น บริษัท มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,277 ล้านบาท โตขึ้น 80% จากรายได้รวม ณ สิ้นปี 2553 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 709 ล้านบาท ซึ่ง ซิกน่า ประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของรายได้รวมสูงที่สุดในกลุ่มเช่นเดียวกัน
“จากการที่เราทำผลงานทั้งยอดขายและรายได้เติบโตแบบก้าวกระโดดดังกล่าวข้างต้น ทำให้สิ้นปี 2554 บริษัทฯ รับรู้ผลประกอบการเป็นกำไรเป็นครั้งแรกในการบันทึกบัญชีแบบ U.S.GAAP Report (การบันทึกบัญชีแบบสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นแบบภายในของซิกน่า) โดยบริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 25 ล้านบาท ซึ่งถึงแม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่มาก แต่แสดงถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานแบบก้าวกระโดดที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม สำหรับรายงานงบกำไรขาดทุนที่จัดส่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งเป็นการบันทึกบัญชีรับรู้รายจ่ายอีกแนวทางหนึ่งนั้น ณ สิ้นปี 2554 บริษัทฯ ลดการขาดทุนจากการดำเนินงาน เหลือขาดทุน 25 ล้าน” นายแกรี่กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทฯ มียอดขายและรายได้รวมที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดทั้งๆ ที่ประสบปัจจัยลบทางด้านอุทกภัยน้ำท่วมในช่วงปลายปีนั้น เนื่องมาจาก บริษัทฯ ประสบผลสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิผลช่องทางเทเลมาร์เก็ตติ้งซึ่งถือเป็นช่องทางหลักของบริษัท โดยการนำเอาเทคโนโลยีมาผสมผสานกับการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดและเป็นระบบ และการพัฒนาทักษะความสามารถของพนักงานขายทางโทรศัพท์(เทเลเซลส์) ควบคู่กันไป นอกจากนี้ ยังมาจากการที่บริษัทฯ สามารถบริหารต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
นายแกรี่เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในช่วงปลายปี 2554 ที่ผ่านมา กลุ่มซิกน่าทั่วโลก ได้มีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร รวมถึงตราสัญลักษณ์ใหม่ของซิกน่า โดยวัฒนธรรมขององค์กรทั่วโลกที่จะยึดถือจากนี้คือ การเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centricity) ทั้งนี้ รูปแบบแบรนด์และตราสัญลักษณ์ใหม่นี้ได้ถูกออกแบบให้สอดคล้องและสื่อได้ถึงกลยุทธ์ระดับโลกของซิกน่า ที่เน้นกลยุทธ์สำคัญ 3 ด้านได้แก่
- Go Deep : การขยายธุรกิจลงลึกไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่หลากหลาย
- Go Global : การแผ่ขยายธุรกิจไปยังทั่วโลก โดยขยาย ไปยังพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ เพิ่มขึ้น
- Go Individual : การขยายธุรกิจไปยังลูกค้ารายบุคคลมากขึ้นและดำเนินการตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละรายที่มีความเฉพาะเจาะจง และสอดคล้องกับความต้องการให้มากขึ้น
โดยตราสัญลักษณ์ใหม่ของซิกน่านี้จะสื่อถึงซิกน่าที่ดูเป็นมิตรขึ้น ทันสมัยขึ้น สดใสมากขึ้น และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สำหรับระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ใหม่ไปยังกลุ่มธุรกิจของซิกน่าที่มีธุรกิจอยู่ทั่วโลกทั้งในและนอกประเทศสหรัฐอเมริกา ซิกน่าได้วางแผนในการทยอยปรับเปลี่ยนการสื่อสารด้วยตราสัญลักษณ์ใหม่ในแต่ละประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไปให้ครบทุกประเทศภายในเดือนกันยายน 2556 หรือภายใน 24 เดือนนับจากเริ่มเปลี่ยนแปลงที่ประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับซิกน่าประเทศไทยนั้น จะเริ่มปรับเปลี่ยนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 1 มีนาคมนี้เป็นต้นไป โดยก่อนหน้านี้ได้ทำการปรับเปลี่ยนเฉพาะภายในองค์กรก่อนแล้ว
สำหรับกลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจของซิกน่า ประเทศไทยในปี 2555 นี้จะเน้นหนักใน 3 ด้าน ได้แก่
1. การสร้างองค์กรให้มีวัฒนธรรมในการยึดถือลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric @ Cigna) ทั้งลูกค้าภายในและลูกค้าภายนอกองค์กร ยกตัวอย่างเช่น แผนประกันใหม่ที่บริษัทฯ จะออกสู่ตลาดต่อจากนี้ บริษัทฯ จะออกแบบโดยคำนึงถึงหลัก 3 P ได้แก่ Preventive, Protection, and Pampering (ป้องกัน — คุ้มครอง — ดูแล) ให้แก่ลูกค้าแบบครบถ้วนมากที่สุด เนื่องจาก ความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันต้องการความคุ้มครองด้านสุขภาพทั้งเชิงป้องกันและดูแลรักษาในกรมธรรม์เดียว เช่น แผนประกันอุบัติเหตุผู้สูงอายุ (Senior PA) ของซิกน่า นอกจากความคุ้มครองหลักทางด้านประกันอุบัติเหตุโดยทั่วไปแล้ว ยังออกแบบให้ครอบคลุมเรื่องของกระดูกแตกหัก รวมถึงค่าใช้จ่ายในการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกให้แก่ผู้สูงอายุอีกด้วย เนื่องจาก ปัญหากระดูกผุเป็นปัญหาที่พบได้มากในวัยผู้สูงอายุ หากมีการส่งเสริมให้ดูแลสุขภาพเชิงป้องกันอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยลดโอกาสที่จะล้มหรือประสบอุบัติเหตุได้ เป็นต้น ซึ่งความคุ้มครองในเชิงป้องกันและดูแลเหล่านี้ก็เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าผู้ถือกรมธรรม์และได้ใช้จริงทันทีโดยที่ไม่ต้องรอให้เกิดอุบัติเหตุจึงจะเบิกเคลม จึงตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุดเป็นอย่างมาก ซึ่งบริษัทฯ ก็จะมุ่งเน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์นี้ภายใต้หลัก 3 P นี้ต่อไป
2. กลยุทธ์การตลาดเชิงความความสัมพันธ์ (Affinity Marketing) กับพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งยังคงเป็นโมเดลธุรกิจหลักของซิกน่าอยู่ในปัจจุบัน โดยบริษัทฯ จะเพิ่มจำนวนพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ในปีนี้อีก 4 ราย สำหรับพันธมิตรทางธุรกิจรายเดิมที่มีอยู่นั้นบริษัทฯ จะมุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตให้ดียิ่งขึ้นโดยใช้ระบบบริหารและวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเชิงลึก (Customer Value Management : CVM) ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ซิกน่ามีความเชี่ยวชาญอยู่ในระดับโลก โดยล่าสุด ผลงานด้าน CVM ของซิกน่าประเทศไทยได้รับรางวัล นวัตกรรมเพื่อลูกค้า (Innovation in Customer Engagement)จาก สถาบันนานาชาติ IDC Financial Insights ซึ่งได้รับคัดเลือกจากนวัตกรรมของ 68 โครงการที่เข้าร่วม
3. กลยุทธ์การตลาดทางตรงถึงผู้บริโภค (Cigna Direct) โดยเน้นช่องทางการตลาดออนไลน์เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใหม่พร้อมสร้างแบรนด์ไปในเวลาเดียวกัน
4. การสร้างองค์กรที่เน้นการมีส่วนร่วมของพนักงาน (Employee Engagement) เนื่องจากบุคลากรคือหัวใจสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนองค์กรไปในทิศทางกลยุทธ์ธุรกิจที่กำหนด ดังนั้น กลุ่มซิกน่า อินเตอร์เนชั่นแนลจึงได้ให้ความสำคัญกับการสำรวจระดับความผูกพันของพนักงานหรือการส่วนร่วมของพนักงานในทุกประเทศ โดยให้บริษัทสำรวจที่เป็นกลางทำการสำรวจอย่างต่อเนื่องมา 2 ปี ซึ่งผลสำรวจของซิกน่าประเทศไทย สิ้นปี 2554 มีระดับคะแนนความผูกพันของพนักงานโดยรวมอยู่ที่ 4.02 (คะแนนเต็ม 5) สูงเป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม ซิกน่า อินเตอร์เนชั่นแนล และสูงกว่าระดับคะแนนเฉลี่ยของซิกน่าโดยรวมทั้งโลก ที่มีระดับคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.86 และยังสูงกว่าระดับคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ที่มิใช่ซิกน่า ที่ทำการสำรวจภายใต้แบบสำรวจเดียวกันนี้ด้วย ระดับคะแนนความผูกพันดังกล่าว แสดงให้เห็นถืง บุคลากรของซิกน่าประเทศไทยส่วนใหญ่รู้สึก “เป็นส่วนหนึ่ง” ขององค์กรอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร ทั้งนี้ บริษัทฯ ก็จะเน้นกลยุทธ์การพัฒนาพนักงานในองค์กรให้มีความเข้มแข็งในทุกๆ ด้านต่อไป
นายบุญรัตน์ งามปฏิพัฒน์พงศ์ รองประธานฝ่ายบริหารช่องทางจัดจำหน่าย เปิดเผยว่า การบริหาร Outbound Call Center และการเพิ่มประสิทธิผลช่องทางจัดจำหน่ายทางโทรศัพท์ (Telemarketing) ของซิกน่าในปีที่ผ่านมา ได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก โดยใช้กลยุทธ์การผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี Predictive Dialing System (PDS) และการวิเคราะห์จัดการฐานข้อมูลรายชื่อเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน TSR ควบคู่กันไป ทำให้สามารถวางแผนกำลังคน รวมถึงบริหารจัดการศักยภาพของพนักงานขายทางโทรศัพท์ให้เหมาะสมกับกลุ่มไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแต่ละกลุ่ม การจัด Segmentation ของลูกค้าเป้าหมายเพื่อให้พนักงานขายสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า แม้กระทั่งการวางแผนจัดเวลาในการโทรออกไปหาลูกค้าให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า เช่น โทรเช้า, กลางวัน, เย็น ในกลุ่มที่แตกต่างกัน ฯลฯ ทั้งนี้จากการทดลองทำทีละกลุ่มและเฝ้าติดตามผลอย่างใกล้ชิดมาเป็นระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้พบว่าแนวทางดังกล่าว สามารถเพิ่มผลผลิตของช่องทางเทเลมาร์เก็ตติ้งได้ในภาพกว้าง โดยสามารถลดต้นทุนของพนักงานขายและเพิ่มอัตราผลตอบรับในด้านการขายและเพิ่มรายได้ต่อการขายกว่า 40% เนื่องจากสามารถใช้ทรัพยากรทั้งคน, รายชื่อลูกค้า, และการจัดสรร seat ที่เหมาะสม ทั้งนี้ใน ปัจจุบัน บริษัทฯ มีคอลล์เซ็นเตอร์รวมทั้งสิ้น 3 แห่ง และมีซีทรวมจำนวน 800 ซีท
“เทคโนโลยี PDS เป็นเทคโนโลยีที่พบเห็นได้ในคอลล์เซ็นเตอร์ทั่วไป แต่ถ้าหากไม่นำมาผสมผสานกับการวิเคราะห์ฐานข้อมูลลูกค้าอย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับศักยภาพของพนักงานขายอย่างถูกต้องแล้ว การเพิ่มผลผลิตจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน และจากความสำเร็จของการเพิ่มประสิทธิผลของคอลล์เซ็นเตอร์ในด้านนี้ ทำให้ทีมงานคอลล์เซ็นเตอร์ของซิกน่าประเทศไทยได้รับรางวัล Quarterly Chairman’s Champion Award ซึ่งเป็นรางวัลที่ประธานของกลุ่มซิกน่า คอร์ปอเรชั่น คัดเลือกด้วยตัวเองและมอบให้กับทีมงานประเทศใดก็ตามที่สามารถสร้างผลงานที่เพิ่มผลผลิตได้ชัดเจนในเชิงธุรกิจให้กับบริษัท ซึ่งทีมงานคอลล์เซ็นเตอร์ประเทศไทยชนะเลิศจากการคัดเลือกจากทีมงานประเทศอื่นๆ ที่ส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 45 แผนงาน ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การบริหารคอลล์เซ็นเตอร์ด้วยแนวทางที่ซิกน่าประเทศไทยดำเนินอยู่นี้ สามารถเพิ่มผลผลิตทางธุรกิจได้อย่างเป็นรุปธรรมจริง ซึ่งนำความภาคภูมิใจให้กับซิกน่าประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง” นายบุญรัตน์อธิบายเพิ่มเติม
นายบุญรัตน์ยังกล่าวถึงกลยุทธ์ในปี 2555 ด้วยว่า บริษัทจะมุ่งเน้นพัฒนา Outbound Call Center ให้ดียิ่งขึ้น โดยจะนำแนวทางการบริหารจัดการรายชื่อลูกค้า Lead Management ที่เรียกว่า S3 (Strategic Sales Support) ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากจากบริษัทฯ ในเครือซิกน่า มาประยุกต์ใช้ ซึ่งจะช่วยให้การบริการมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นเราจะมุ่งเน้นการพัฒนารูปแบบการขาย ที่เน้นไม่เฉพาะการขาย แต่จะเน้นการให้บริการและให้คำแนะนำกับลูกค้า และที่สำคัญที่สุดที่เราจะเน้นพัฒนาพนักงานขายทางโทรศัพท์ และหัวหน้างานของเราให้มีความรู้ ความสามารถเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้ลูกค้าของเราได้รับบริการและความพึงพอใจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ด้านช่องทางจัดจำหน่ายทางตรง บริษัทฯ จะเน้นช่องทางการตลาดออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากบริษัทฯ ได้ขยับกลุ่มเป้าหมายใหม่ในปีนี้ให้เป็นกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ ที่เห็นความสำคัญของการประกันภัยส่วนบุคคลที่แท้จริง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่ชอบศึกษาหาข้อมูลเชิงลึกก่อนตัดสินใจซื้อแผนประกันใดๆ ดังนั้น ช่องทางการตลาดออนไลน์จะเป็นช่องทางที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ได้ดีที่สุด บริษัทฯ จึงเตรียมแผนการตลาดที่จะบุกช่องทางนี้พร้อมกับเป็นช่องทางการสร้างแบรนด์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียไปในเวลาเดียวกันด้วย
“ปีนี้เราตั้งใจว่าเราจะไม่บุกช่องทางการขายตรงผ่านโทรทัศน์ (DRTV) เนื่องจากเราต้องการบุกช่องทางการตลาดออนไลน์อย่างเต็มที่ตามกลุ่มเป้าหมายใหม่ของเรา โดยจะมีการใช้พรีเซ็นเตอร์ที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่มานำเสนอแผนประกันต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงจะสร้างกิจกรรมตอบแทนลูกค้าซิกน่าโดยการร่วมสนุกผ่านทางแคมเปญการตลาดออนไลน์ตลอดทั้งปี โดยเราตั้งเป้าหมายยอดขายของช่องทางนี้ไว้ที่ 20 ล้านบาท ถึงแม้ว่าเป้าหมายยอดขายของช่องทางนี้จะเป็นสัดส่วนไม่มาก เมื่อเทียบกับช่องทางเทเลมาร์เก็ตติ้ง หรือ ดีอาร์ทีวี แต่ถือว่าเป็นช่องทางที่เข้าถึงลูกค้ารายบุคคลได้โดยตรงและเป็นการสร้างแบรนด์ไปในตัวผ่านทางโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ซึ่งไปได้ไกลทั่วโลกด้วยครับ”
ด้านนางสาว นภา ตรีรัตนาวงศ์ รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ เปิดเผยว่า จากกลยุทธ์ของซิกน่าทั่วโลกที่ยึดถือลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ทำให้บริษัทฯมีแผนดำเนินการที่จะพัฒนากระบวนการต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า โดยในลำดับแรก บริษัทฯ ได้ยกระดับคุณภาพบริการของศูนย์บริการลูกค้าซิกน่า (Customer Service Center) ใน 2 ด้านด้วยกัน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงเลขหมายโทรศัพท์ของศูนย์บริการลูกค้า จากเลขหมาย 9 หลักให้เป็นเลขหมาย 4 หลัก ได้แก่ หมายเลข 1758 เพื่อให้ลูกค้าจดจำเลขหมายได้ง่ายขึ้น สามารถติดต่อศูนย์บริการลูกค้าได้ทันท่วงที ประการที่สองได้แก่ การให้บริการศูนย์บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่องตลอด 7 วัน จากเดิม 5 วันทำการ โดยมีวันเวลาทำการใหม่ ได้แก่ วันจันทร์ — วันศุกร์ เวลาทำการระหว่าง 08.00 — 20.00 น. และ วันเสาร์ — วันอาทิตย์ เวลาทำการ 08.30 — 17.30 น. นอกจากนี้ ยังเพิ่มช่องทางการให้บริการลูกค้าแบบออนไลน์ ที่เรียกว่า ซิกน่า อี-เซอร์วิส (Cigna e-Service) ซึ่งเป็นบริการที่ให้ลูกค้าผู้ถือกรมธรรม์ของซิกน่าสามารถตรวจสอบและติดตามข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกรมธรรม์ประกันภัยของซิกน่าด้วยตัวเองบนซิกน่า เว็บไซต์ เพียงแค่เข้ามาสมัครลงทะเบียนเปิดใช้บริการซิกน่า อี-เซอร์วิส พร้อมรับ รหัสส่วนตัว (PIN) ผ่านเว็บไซต์ซิกน่า www.Cigna.co.th โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อให้ลูกค้าสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลกรมธรรม์ของตนเองได้อย่างตลอดเวลา 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ลงทุนกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีเพิ่มเติมอีก 85 ล้านบาทระหว่างปี 2554- 2555 เพื่อเสริมศักยภาพด้านไอทีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งได้มาพัฒนาระบบบริการลูกค้าที่เรียกว่า i-Pro ซึ่งเป็นระบบการให้บริการข้อมูลลูกค้าซึ่งรวบรวมจากฐานข้อมูลทุกส่วนให้มาอยู่ในระบบเดียว และสามารถแสดงหน้าจอขณะให้บริการลูกค้าได้เบ็ดเสร็จในหน้าจอเดียว ซึ่งช่วยให้สามารถให้บริการแก่ลูกค้าแต่ละรายได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
“ด้วยช่องทางการจัดจำหน่ายแบบทางตรงโดยไม่ผ่านตัวแทน (agent) ซึ่งเป็นช่องทางที่ซิกน่าดำเนินอยู่ทั่วโลกนั้น ศูนย์บริการลูกค้าจะเป็นศูนย์กลางที่ลูกค้าจะนึกถึงเพื่อให้ช่วยดำเนินการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรมธรรม์ของเขา เช่น สอบถามรายละเอียดความคุ้มครองของกรมธรรม์ สอบถามขั้นตอนการเบิกเคลม ติดตามสถานะของการเบิกเคลม ฯลฯ ซึ่งปัจจุบัน ซิกน่ามีลูกค้าผู้ถือกรมธรรม์อยู่ประมาณ 4 แสนราย ดังนั้น เราจึงให้ความสำคัญในการพัฒนาเพื่อยกระดับศูนย์บริการลูกค้าของเราก่อนเป็นลำดับแรกๆ และเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงของลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วตรงความต้องการของเขาที่สุด และเร็วๆ นี้ก็จะมีแผนพัฒนาการบริการในด้านอื่นๆ ต่อไปเพื่อให้ลูกค้าซิกน่ามีประสบการณ์ที่ดีที่สุดตลอดการเป็นลูกค้าผู้ถือกรมธรรม์ของซิกน่าให้สมกับการที่เขาไว้วางใจให้เราได้เป็นผู้ดูแลสุขภาพและความมั่นคงส่วนหนึ่งในชีวิตของเขา” นางสาวนภากล่าวเพิ่มเติม
นายแกรี่กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า ในปี 2555 นี้ บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดขาย(เบี้ยประกันรับปีแรก) จากทุกช่องทางไว้ที่ 1,600 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2554 ประมาณ 20 % และตั้งเป้ารายได้รวมไว้ที่ 1,780 ล้านบาท เติบโตประมาณเกือบ 40 % ของรายได้รวมปี 2554
สอบถามข้อมูลข่าวเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
พิมพาภรณ์ สมเกียรติวีระ (พิม)
ผู้จัดการแผนกสื่อสารการตลาด
บริษัท ซิกน่า ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
โทรศัพท์ 0-2651-5995 ต่อ 205, 081 847 4657
โทรสาร 0-2627-3037
E-Mail : [email protected]
เว็บไซต์ : www.cigna.co.th
ครรชิต ผินนารี (หนึ่ง) / สุภาวดี ทานะมัย (หนูดี)
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท เอ.ซี.แอล. จำกัด
โทรศัพท์ 02 184 7630, 089 132 3570, 082 514 4838
โทรสาร 02 184 7603
E-Mail : [email protected]