? การเลือกตั้งรัสเซียในครั้งนี้อาจไม่ส่งผลโดยตรงต่อประเทศไทยทั้งในแง่การค้าและการลงทุนระหว่างกันมากนัก เนื่องจากมูลค่าการลงทุนระหว่างกันยังค่อนข้างน้อย และในด้านการค้าในปี 2554 ก็พบว่าไทยส่งออกไปรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.5 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย เป็นมูลค่า 1,149.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันแม้มูลค่าการส่งออกจะยังน้อยอยู่แต่ถ้าดูจากอัตราการเติบโตจะเห็นได้ว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.1 นับว่าน่าสนใจเพราะขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายปีและยังสูงกว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกโดยรวมของไทยที่ขยายตัวร้อยละ 17.2 ดังนั้นตลาดรัสเซียจึงเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงในด้านการค้าและยังมีความสำคัญอันดับ 1 ของไทยในกลุ่มประชาคมรัฐเอกราช(CIS) อีกด้วย ขณะที่ไทยนำเข้าจากรัสเซียมีสัดส่วนราวร้อยละ 2 ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย คิดเป็นมูลค่า 4,518.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสินค้านำเข้าส่วนใหญ่ก็คือน้ำมันดิบที่คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 57.6 ของมูลค่าการนำเข้าของไทยจากรัสเซียโดยรวม ทำให้ยังเป็นอีกปีที่ไทยเสียเปรียบดุลการค้าให้แก่รัสเซีย ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าโครงสร้างการค้าระหว่างไทยกับรัสเซียสะท้อนบทบาทของรัสเซียต่อไทยผ่านทางการค้าน้ำมัน ซึ่งการที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวนย่อมส่งผลต่อฐานะดุลการค้าของไทยกับรัสเซียอย่างมาก
? รัสเซียเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก(WTO)มิติใหม่ของการค้ารัสเซีย สะท้อนบทบาทรัสเซียในเวทีโลกที่เพิ่มขึ้น โดยรัสเซียเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2554 จากความพยายาม 18 ปี นับตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา ซึ่งรัฐบาลในชุดล่าสุดก็ตระหนักถึงการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกต่อนักลงทุนให้สอดรับกับการเข้าเป็นสมาชิก WTO ด้วยเช่นกัน โดยทุ่มงบประมาณยกระดับท่าเรือของรัสเซียให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้มากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ถนน รางรถไฟ คลังสินค้า และระบบการปล่อยสินค้า เป็นต้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยขจัดอุปสรรคด้านการค้าที่ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น อันได้แก่ ค่าธรรมเนียม ค่ายกสินค้า ค่าจัดเก็บสินค้า โดยเฉพาะการย่นระยะเวลาการนำสินค้าออกจากท่าเรือที่กินเวลานานเพราะปริมาณสินค้าที่คับคั่ง ทั้งนี้ การปรับปรุงกฎระเบียบตามเงื่อนไข WTO ของรัสเซีย ได้แก่
- มิติด้านการค้าสินค้า การเปิดตลาดสินค้ารัสเซียลดเพดานภาษีจากอัตราเฉลี่ยร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 7.8 โดยสินค้าเกษตรจะลดจากร้อยละ 13.2 เป็นร้อยละ 10.8 สินค้าอุตสาหกรรมจากร้อยละ 9.5 เป็นร้อยละ 7.3 สำหรับสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ยังสามารถใช้ระบบโควตาภาษี (TRQ)
- มิติด้านการค้าภาคบริการ รัสเซียตกลงรับข้อผูกพันของภาคบริการ 11 สาขาหลัก และ 116 สาขาย่อย เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม โดยจะยกเลิกข้อจำกัดการถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 49 สำหรับต่างชาติ หลังการเข้าเป็นสมาชิก 4 ปี และธุรกิจประกันภัยต่างชาติจะสามารถเปิดสาขาในรัสเซียได้ภายในอีก 9 ปี หลังการเข้าเป็นสมาชิก เป็นต้น
- มาตรการที่มิใช่ภาษี การยกเลิกการอุดหนุนสินค้าอุตสาหกรรมทันที ขณะที่การอุดหนุนสินค้าเกษตรรัสเซียตกลงมีการอุดหนุนไม่เกิน 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2555 และค่อยๆลดลงเหลือ 4.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี2561 และรวมถึงปฏิรูประเบียบ/กฎเกณฑ์การค้าภายในประเทศให้เป็นไปตามเงื่อนไข WTO ได้แก่ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช(SPS) โควตาภาษี(Tariff Quota) การจำกัดปริมาณการนำเข้า(Quantitative import restriction) และพิธีการทางศุลกากร (Custom procedures) เป็นต้น
- มาตรการการค้าที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน(Trade-Related Investment Measures) รัสเซียจะยกเลิกกฎระเบียบที่ขัดต่อความตกลงมาตรการการค้าที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน(Agreement on Trade-Related Investment Measures Agreement : TRIMs) เพื่อช่วยให้การลงทุนในประเทศมีความสะดวกมากขึ้น
? การกุมอำนาจอีกสมัยของพรรคยูไนเต็ดรัสเซียอาจไม่ราบรื่น สะท้อนจากผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนธันวาคม 2554 พบว่า พรรคยูไนเต็ดรัสเซีย แม้จะครองเสียงข้างมากแต่ได้ที่นั่งเพียง 238 ที่นั่ง จาก 450 ที่นั่ง โดยลดลงจากการเลือกตั้งในปี 2550 ที่คะแนนเสียงขาดลอยที่ 315 ที่นั่ง ซึ่งจำนวนที่นั่ง 238 ที่นั่งนั้นแม้จะผ่านร่างกฎหมายในการบริหารประเทศได้แต่ก็เป็นไปได้ว่าทิศทางนโยบายในประเทศก็มีโอกาสพลิกผัน ซึ่งในปัจจุบันรัสเซียพึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ แต่การที่ราคาน้ำมันผันผวนดังเช่นที่ผ่านมาก็ได้กระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจรัสเซีย ดังนั้น แนวทางแก้ปัญหาโดยการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำมันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพอาจเป็นเรื่องท้าทายมากขึ้นนับจากนี้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ยังดำเนินอยู่ เพราะฐานเสียงในรัฐสภาอาจส่งผลต่อการออกนโยบายต่างๆ
? ประเด็นทางการเมืองในเวทีโลกกับความร้อนแรงด้านพลังงาน เป็นที่ทราบกันดีว่าราคาน้ำมันในขณะนี้มีแนวโน้มแกว่งตัวในเกณฑ์สูงเพราะความไม่ลงรอยระหว่างภูมิภาคตะวันออกกลางและชาติตะวันตก(อิหร่าน-อียู-สหรัฐฯ) ส่งผลโดยตรงให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกขยับสูงขึ้น ส่วนเหตุความไม่สงบในซีเรียที่ยืดเยื้อและรัสเซียเองก็มีความเกี่ยวเนื่องทางเศรษฐกิจกับซีเรีย ผนวกกับรัสเซียได้ก้าวมามีบทบาทในฐานะผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 1 ของโลกด้วยสัดส่วนกว่าร้อยละ 12 ของการผลิตน้ำมันโลก โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา โดยมีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 10.36 ล้านบาร์เรล/วัน(ขณะที่ซาอุดีอาระเบียในเดือนพฤศจิกายน 2554 ผลิตได้10.05 ล้านบาร์เรล/วัน) ทั้งนี้ หากเหตุการณ์ดำเนินไปในทิศทางเชิงลบหรือทวีแรงกดดันมากขึ้นก็อาจส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวนมากขึ้น
กล่าวโดยสรุป การผลัดเปลี่ยนผู้นำของรัสเซียในปี 2555 น่าจะเป็นตามที่หลายฝ่ายคาดไว้ว่าอำนาจยังคงอยู่ในมือนายวลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งในอดีตเป็นทั้งผู้นำประเทศในเบื้องหน้าในฐานะประธานาธิบดีถึง 2 สมัย(ปี 2543-2551) และต่อเนื่องด้วยการเป็นผู้บริหารประเทศในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี(ปี 2551-2554)ที่มีบทบาทอย่างมากต่อเศรษฐกิจรัสเซีย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แม้การบริหารประเทศยังคงอยู่ในมือพรรคการเมืองเดิมแต่ความท้าทายที่ต้องจับตาต่อไปในรัสเซียคือทิศทางเศรษฐกิจของรัสเซียเองที่คาดว่าบทบาทของพรรคยูไนเต็ดรัสเซีย ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลมาหลายสมัยอาจจะมีบทบาทลดน้อยลง ทำให้ร่างกฎหมายหรือการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัสเซียไม่ราบรื่นเหมือนเคยเพราะถูกคานอำนาจจากฝ่ายค้านมากขึ้น นั่นก็อาจส่งผลโดยรวมถึงทิศทางของรัสเซียต่อเวทีโลกที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
ในด้านผลต่อประเทศไทยที่อาจได้ประโยชน์จากการที่รัสเซียเปิดประตูการค้าสู่เวทีโลกโดยการเข้าเป็นสมาชิก WTO และอานิสงส์จากแรงขับเคลื่อนของรัฐบาลที่มีความต่อเนื่องกันในการสนับสนุนการค้าและการลงทุนของรัสเซียกับต่างประเทศ โดยเฉพาะการลดอุปสรรคในการทำธุรกิจและนั่นก็เป็นหัวใจส่วนสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับรัสเซียแน่นแฟ้นมากขึ้นกว่าปัจจุบัน โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าสำคัญของไทยที่น่าจะเติบโตมากขึ้น ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำตาลทราย เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋อง/แปรรูป และเม็ดพลาสติก เป็นต้น