อพท. สร้างเครือข่ายภาคีการท่องเที่ยวพื้นที่เมืองโบราณอู่ทอง

พุธ ๑๔ มีนาคม ๒๐๑๒ ๑๑:๑๖
วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ องค์การบริหารการพัฒนา พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ร่วมประชุมกับ หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อหารือเกี่ยวกับ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองโบราณอู่ทอง

นายสมชาย เลิศพงศ์ภากรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ชี้แจงว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเบื้องต้นให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง โดยนำเสนอโครงการ ดังนี้

๑) สำนักชลประทานที่ ๑๐ จังหวัดสุพรรณบุรี ปรับปรุงภูมิทัศน์รอบคูเมือง ซึ่งได้รับอนุมัติงบประมาณ ๑๕๙ ล้านบาท แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานในระยะที่ ๒ คือ ขุดคูเมืองและสร้างสะพาน เพื่อให้เรือลอดใต้สะพานและคลองจระเข้สามพัน และระยะที่ ๓ สร้างสะพานบริเวณถนนมาลัยแมนหน้าสำนักงานศิลปากรและบริเวณทางเข้าตลาดเพื่อยกสะพานให้เรือแล่นได้ รวมทั้งรื้อถนนบริเวณสำนักงานศิลปากร เพื่อให้เรือแล่นได้รอบคูเมือง นอกจากนี้ ชลประทานกำลังดำเนินการประสานกับสำนักงานศิลปากรที่ ๒ เรื่องการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณรอบคูเมือง และอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบเรือ

๒) สำนักงานพระพุทธศาสนา จังหวัดสุพรรณบุรี ดำเนินการก่อสร้างพุทธมณฑลบริเวณพื้นที่ป่าหลังเขาทำเทียม ขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ (๔๗๗ ไร่) และปรับปรุงพื้นที่บางส่วน โดยจะสร้างพระพุทธรูปแกะสลัก อาคารปฏิบัติธรรม กรอบระยะเวลาดำเนินการประมาณ ๖ ปี (๒๕๕๔-๒๕๖๐) ใช้งบประมาณของคณะสงฆ์ ส่วนราชการ และเงินบริจาคจากประชาชน จำนวน ๒๐๐ ล้านบาท (ไม่ขอรับจัดสรรจาก อพท.) โดยโครงการแกะสลักพระพุทธรูปนั้น ควรบรรจุอยู่ในแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการ เนื่องจากเป็นตัวแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว

๓) เทศบาลตำบลท้าวอู่ทอง โครงการจัดงานวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ที่สำคัญของท้องถิ่นและรัฐพิธีสำคัญของชาติงบประมาณ ๒ ล้านบาท เพื่อส่งเสริมประชาชนให้เลื่อมใสพุทธศาสนา เช่น การจัดกิจกรรมตักบาตรเทโว

- โครงการพัฒนาเส้นทางอารยธรรมการท่องเที่ยว (งบประมาณ ๑ ล้านบาท) เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยว ๑๓ เจดีย์

- โครงการจัดบริการห้องน้ำสาธารณะ และเป็นจุดพักให้นักท่องเที่ยว (งบประมาณ ๑ ล้านบาท) อยู่ระหว่างเจรจาซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้าง โดยจะจ้างคนทำความสะอาด เพื่อสร้างงานให้คนในท้องถิ่น รอง ผวจ.สุพรรณบุรี เสนอความเห็นว่า อาคารควรมีเอกลักษณ์ สถาปัตยกรรมแบบทวารวดีและเมืองโบราณ

- โครงการพัฒนาอบรมบุคลากรด้านการท่องเที่ยว (งบประมาณ ๒.๕ แสนบาท) ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ แก่นักท่องเที่ยวได้ (พื้นที่หมู่บ้านละ ๑ กลุ่ม)

- โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยวในอำเภออู่ทอง (งบประมาณ ๑๐ ล้านบาท) เพื่อสร้างน้ำพุที่เป็นน้ำมนต์บริเวณพระพุทธรูปแกะสลักหน้าเขาทำเทียม

- โครงการพัฒนาเสริมสร้างภูมิปัญญาท้องถิ่น (งบประมาณ ๕ แสนบาท)

- โครงการชุมชนสัญจร (งบประมาณ ๑ แสนบาท) จัดให้แกนนำ/ตัวแทนชุมชนไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาดูงานในพื้นที่พิเศษอื่นๆ เพื่อนำประสบการณ์ ความรู้ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชน

- โครงการรักษ์แหล่งท่องเที่ยว (งบประมาณ ๑.๕ แสนบาท) สร้างจิตสำนึกการเป็นเจ้าบ้านที่ดีให้แก่ชุมชน

- โครงการจัดตั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (งบประมาณ ๒.๕ แสนบาท) โดยจัดให้มีบุคลากรประจำศูนย์โครงการ

- ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี (งบประมาณ ๑.๕ แสนบาท) จัดทำสื่อเอกสารประชาสัมพันธ์

๔) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดสุพรรณบุรี โครงการจัดการการอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวและการจัดการสิ่งแวดล้อมพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทองที่อยู่ในเขตป่า เช่น น้ำตกพุม่วง (งบประมาณ ๑ ล้านบาท) โดยจัดการร่วมกับเครือข่ายชุมชนที่อยู่รอบป่า เพื่อสร้างธรรมชาติให้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างกิจกรรมท่องเที่ยวในชุมชน รวมทั้งมีการอบรมให้ความรู้เรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การอนุรักษ์และการจัดการสิ่งแวดล้อม ขยะ น้ำเสีย และบริการความรู้แก่นักท่องเที่ยว โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นแกนนำชุมชนในบริเวณพื้นที่รอบป่า ๑๐๐ คน และเยาวชน ๑๐๐ คน โดยจะเสนอของบประมาณจาก อพท. ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖

๕) สถานีตำรวจภูธรอู่ทอง โครงการจัดตั้งศูนย์บูรณาการการป้องกันและรักษาความปลอดภัย ดูแลการจราจรบริการนักท่องเที่ยว พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (งบประมาณ ๓ แสนบาท) เพื่อเป็นศูนย์บูรณาการป้องกันอุบัติเหตุทางจราจรและแหล่งท่องเที่ยว โดยจะตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุทางบก ทางน้ำ และศูนย์พิเศษสำหรับการจัดเทศกาล รวมทั้งสายตรวจช่วยเหลือทางน้ำ เช่น ชุดเคลื่อนที่เร็ว ชุด Help team เพื่อป้องกันเหตุในจุดเสี่ยง ซึ่ง อพท. เสนอว่าในส่วนเครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในศูนย์ รวมทั้งยานพาหนะออกตรวจ ขอให้ใช้ควบคู่กับปฏิบัติการเดิมไปก่อน ส่วนค่าฝึกอบรมบุคลากรในการฝึกปฏิบัติอาจจะบรรจุอยู่ในแผนแม่บท นอกจากนี้ รอง ผวจ.สุพรรณบุรี แนะนำว่า ยานพาหนะสายตรวจไม่ควรใช้เครื่องยนต์ที่ก่อให้เกิดมลพิษ ควรใช้ยานพาหนะเช่นจักรยาน เรือพาย ที่ไม่ปล่อยมลพิษแทน

๖) พัฒนาชุมชน สุพรรณบุรี โครงการประชุมผู้ประกอบการ OTOP และสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ (งบประมาณ ๕ หมื่นบาท) เพื่อสนับสนุนการผลิตภัณฑ์โอท็อป ให้สอดรับกลมกลืนกับพื้นที่เมืองโบราณอู่ทองเช่น ขนมพื้นบ้าน ผ้าด้นมือ ผ้าทอบ้านโซ่ ไททรงดำ ผ้าไทบ้านวังทอง

- โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ค้นหาอัตลักษณ์ของสินค้าให้เชื่อมโยงการท่องเที่ยว เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความเหมาะสมกลมกลืนกับแหล่งท่องเที่ยว (ไม่ใช้งบประมาณ)

- โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าโดยบรรจุภัณฑ์ (งบประมาณ ๑ แสนบาท)

- โครงการจัดสร้างตำนานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์(งบประมาณ ๑ แสนบาท)

- โครงการมัคคุเทศก์ OTOP (งบประมาณ ๕ หมื่นบาท)

- โครงการรถโมบายสินค้า OTOP เคลื่อนที่ (งบประมาณ ๑ ล้านบาท)

๗) อำเภออู่ทอง โครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (งบประมาณ ๗.๕ แสนบาท) จัดให้แกนนำชุมชน ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปศึกษาดูงาน เพื่อนำแนวทางการพัฒนาพื้นที่พิเศษมาถ่ายทอด และพัฒนาพื้นที่ต่อไปโดยมีกลุ่มเป้าหมายประมาณ ๕๐ คน

๘) เทศมนตรีตำบลอู่ทอง โดย นายนิยม ภานุมาสวิวัฒน์ นายกเทศมนตรีตำบลอู่ทอง เสนอแนวคิดว่า ควรจัดเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงระหว่างเมืองโบราณอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานอู่ทอง คูเมือง พุทธมณฑลบริเวณเขาทำเทียม เขาถ้ำเสือ เขาพระ และตลาดสดอู่ทองที่เป็นศูนย์อาหารและศูนย์จำหน่ายโอท็อปของที่ระลึก เพื่อเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ และเสนอว่าต้องการพื้นที่ให้มีสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของกษัตริย์สมัยอู่ทองเพื่อที่สักการะของประชาชนและนักท่องเที่ยว และเพื่อสะท้อนถึงความเป็น ราชธานีเก่าแก่ของทวารวดี นอกจากนี้ ได้เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ของเมืองโบราณอู่ทองทั้ง ๓ ยุค และหอศิลป์เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งควรจัดบริการรถซิตี้ทัวร์ นำเที่ยวชมซึ่งได้เสนอโครงการดังนี้

- โครงการพัฒนาปรับปรุงตลาดสดเทศบาลตำบลอู่ทอง

- โครงการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง

- โครงการจัดรถนำเที่ยว (ซิตี้ ทัวร์) รอบเมืองโบราณอู่ทอง

- โครงการศูนย์สินค้า OTOP

โดย อพท. เสนอความเห็นว่าควรบรรจุโครงการข้างต้นไว้ในช่วงการจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการ เนื่องการดำเนินงานต้องใช้ระยะเวลายาวกว่ากรอบเวลาในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๕ นี้

๙) สำนักงานศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี มีการปรับแผนปฏิบัติการ เพราะมีการวางผังพื้นที่ใหม่ ซึ่งจะนัดประชุมเพื่อกำหนดแผนงานใหม่ ซึ่งจะครอบคลุมถึงงานศึกษาทางวิชาการโบราณคดีด้วย เนื่องจากหลายภาคส่วนยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและเป็นข้อถกเถียงอยู่เกี่ยวกับอู่ทอง จึงต้องมีการศึกษาเอกสารที่กล่าวถึงเรื่องพระเจ้าอู่ทอง และศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องดินแดนสุวรรณภูมิด้วย ซึ่งจะสกัดย่อยข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าไจได้ง่าย

ในแผนงานจะประกอบด้วยการบูรณะโบราณสถานโดยรอบเมืองโบราณอู่ทอง และบริเวณปริมณฑลรอบนอก ซึ่งในปี ๒๕๕๕ ได้รับงบประมาณ ๕ ล้านบาท ในการบูรณะโบราณสถาน ๕ แห่ง และปรับปรุงภูมิทัศน์รอบเจดีย์หมายเลข ๑๓ นอกจากนี้ ได้เสนอของบประมาณจาก อพท. ดังนี้

- โครงการการปรับปรุงภูมิทัศน์เมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งดำเนินการร่วมกับชลประทาน

- โครงการการสร้างศูนย์การเรียนรู้สุวรรณภูมิ ในพิพิธภัณฑ์

- โครงการปรับปรุงและพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง (งบประมาณ ๖ แสนบาท) ประกอบด้วยกิจกรรมการปรับปรุงป้ายคำบรรยายภาคภาษาอังกฤษเพื่อรองรับการท่องเที่ยว การปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในพิพิธภัณฑ์ และการจัดพิมพ์เอกสารแผ่นพับนำชมพิพิธภัณฑ์

ทั้งนี้ อพท. ชี้แจงว่าโครงการ/การดำเนินงานบูรณะของกรมศิลปากรมีหลายขั้นตอนและใช้เวลานาน ควรบรรจุไว้ในส่วนของแผนแม่บทฯ และของบประมาณเป็นรายปีต่อไป ซึ่งงานกรมศิลปากรนั้นจะต้องมีแบบแปลนเรียบร้อยแล้วถึงจะขอรับจัดสรรงบประมาณได้

๑๐) สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี โครงการย้ายศูนย์ราชการ (งบประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท) ควรจัดให้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการปกครอง ส่วนสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด จะเป็นผู้ดำเนินการออกแบบและประเมินราคาให้ ซึ่งควรประสานแจ้งให้กรมการปกครองทราบเพื่ออธิบดีเห็นชอบโครงการต่อไป โดย อพท. เห็นว่าโครงการย้ายศูนย์ราชการควรบรรจุไว้ในแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่พิเศษ และโครงการจะต้องมีแบบก่อสร้าง รายละเอียดโครงการ เพื่อใช้ประกอบการของบประมาณในแต่ละปี ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าพื้นที่บริเวณหัวเกาะเดิมที่เป็นศูนย์ราชการจะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงรูปแบบอาคารใหม่ให้กลมกลืนกับเอกลักษณ์ของเมืองโบราณ

นายดำรงค์ แสงกวีเลิศ รองผู้อำนวยการ อพท. (พื้นที่พิเศษ) กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (กพท.) มีความประสงค์ให้พื้นที่เมืองโบราณอู่ทองมีการดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างที่รอกระบวนการประกาศพื้นที่พิเศษ เช่น การศึกษาดูงานในพื้นที่พิเศษอื่น การสร้างรายได้แก่ชุมชนในพื้นที่เทศบาล กิจกรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว โดย อพท. จะพิจารณาความเหมาะสมและเสนอต่อ กพท. เพื่อขอให้งบประมาณต่อไป ทั้งนี้ กรณีที่เป็นโครงการใหญ่ จะพิจารณาบรรจุไว้ในแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ตามความเหมาะสมของกรอบเวลาโครงการ

การประชุมในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น ๒๖ คน ประกอบด้วย หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน ๑๗ คน ได้แก่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ปลัดอาวุโสอำเภออู่ทอง โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด สถานีตำรวจภูธรอู่ทอง นายกเทศมนตรีตำบลอู่ทอง นายกเทศมนตรีตำบลท้าวอู่ทอง ปลัดเทศบาลตำบลท้าวอู่ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี นักโบราณคดีชำนาญการ ศิลปากรที่ ๒ ตัวแทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักชลประทานที่ ๑๐ จังหวัดสุพรรณบุรี ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบ สำนักงานท้องถิ่นอำเภอ ตัวแทนจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อู่ทอง กำนันอู่ทอง และผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๙ ตำบลอู่ทอง

สำหรับผู้เข้าประชุมของ อพท. มีจำนวนทั้งสิ้น ๕ คน ได้แก่ รอง ผอ.อพท. (พื้นที่พิเศษ) เจ้าหน้าที่แผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ ๓ คน และรักษาการหัวหน้างานสร้างเครือข่ายภาคีการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีก ๓ คน ร่วมสังเกตการณ์การประชุมนี้

ติดต่อ:

ชมพูนุท ธาราสิทธิโชค

เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.

[email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย
๐๙:๑๘ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัด Pitching day การเขียนโฆษณา และ การเล่าเรื่องผ่านแคมเปญ
๐๙:๔๔ รมว.เอกนัฏ โชว์ ดีพร้อม หนุนซอฟต์พาวเวอร์แฟชั่นไทย ในงาน ShowPow ต้อนรับปีใหม่ ส่งเสริมอัตลักษณ์ท้องถิ่น
๐๙:๓๒ กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) หารือแนวทางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายใต้โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (OTOD ทุเรียนดิจิทัล)
๐๙:๐๘ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ภายใต้โครงการ อายิโนะโมะโต๊ะ โภชนาการเพื่อเด็กไทย