นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการโจนส์ แลง ลาซาลล์ กล่าวว่า “การเกิดเพลิงไหม้ในอาคารสูงเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ แต่ไม่ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ตราบเท่าที่ภายในอาคารยังคงมีวัสดุที่ติดไฟได้ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์เพลิงไหม้จึงมีความจำเป็นพอๆ กับมาตรการการป้องกัน”
เตรียมความพร้อมระบบผจญเพลิงของอาคารอาคารควรมีระบบผจญเพลิง อาทิ ระบบสปริงเกลอร์ ซึ่งจะสามารถช่วยระงับการลุกลามของเพลิงได้อย่างค่อนข้างได้ผล ซึ่งระบบดังกล่าวทำงานร่วมกับระบบปั๊มน้ำดับเพลิง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มั่นใจว่าระบบปั๊มน้ำดับเพลิงอยู่ในสภาพพร้อมทำงาน โดยควรมีการตรวจเช็คทุกๆ สามเดือน
สำหรับอาคารที่สร้างก่อนปี 2535 ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มีระบบสปริงเกลอร์ ในเบื้องต้นควรติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงรวมถึงจุดหัวฉีดน้ำดับเพลิงในทุกๆ ชั้น และในระยะต่อไป อาจพิจารณาการติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ ซึ่งในทางเทคนิคสามารถทำได้ แต่ความยากง่ายหรือความซับซ้อนในการติดตั้งอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของแต่ละอาคาร อาทิ การออกแบบของอาคาร และความพร้อมในการปิดอาคารชั่วคราวในระหว่างการติดตั้งระบบ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของต้นทุนในการติดตั้งระบบเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
“การที่ภาครัฐฯ มีแผนที่จะผลักดันให้อาคารสูงทุกอาคาร ปฏิบัติตาม พรบ.ควบคุมอาคารปี 2535 ซึ่งกำหนดให้อาคารสูงมีการติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ นับเป็นแนวคิดที่ดี เนื่องจากความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ดี การติดตั้งระบบการป้องกันอัคคีภัยเพิ่มเติมอาจต้องมีการลงทุนสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น เพื่อให้แนวคิดดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ ภาครัฐฯ อาจต้องให้ความช่วยเหลือในบางส่วน อาทิ การให้ความสนับสนุนทางด้านเทคนิค และการจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่เจ้าของอาคาร” นางสุพินท์กล่าว
เตรียมความพร้อมของบุคลากร
นอกจากความพร้อมของระบบดับเพลิง อาคารต่างๆ ควรมีการเตรียมความพร้อมของบุคลากรด้วย ทั้งนี้ ทีมงานฝ่ายจัดการอาคาร ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร ช่างประจำอาคาร เจ้าหน้าที่ธุรการ พนักงานรักษาความปลอดภัย รวมจนถึงพนักงานรักษาความสะอาด ควรได้รับการฝึกอบรมการผจญเพลิงในเบื้องต้น ซึ่งบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วเป็นอย่างดีเหล่านี้ จะมีส่วนช่วยได้มากในการดับหรือสกัดกั้นการลุกลามของเพลิงในระหว่างที่รอการช่วยเหลือจากหน่วยงานดับเพลิงของทางการ
เตรียมความพร้อมของผู้ใช้หรืออยู่อาศัยในอาคาร
ทางด้านผู้ใช้หรืออยู่อาศัยในอาคาร ควรได้รับการเตรียมความพร้อมเช่นกัน ซึ่งตามกฎหมาย เจ้าของอาคารต้องมีการจัดการซ้อมหนีไฟประจำปี โดยต้องมีการซ้อมใหญ่หนึ่งครั้งและการซ้อมย่อยอีกหนึ่งครั้ง
นางสุพินท์กล่าวว่า “การซ้อมหนีไฟจะช่วยให้ผู้ใช้หรืออยู่อาศัยในอาคาร รวมถึงบุคลากรที่ดูแลการบริหารจัดการอาคาร มีความรู้ในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องและปลอดภัยในกรณีเกิดเพลิงไหม้ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าของอาคารจะต้องมีการจัดการซ้อมหนีไฟตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมกับกระตุ้นให้ผู้ใช้หรืออยู่อาศัยในอาคารเข้าร่วมการซ้อมหนีไฟด้วย”
เจ้าของอาคารควรปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
อาคารที่มีการบริหารจัดการที่ดีจะมีความเสี่ยงต่ำในการเกิดขึ้นหรือได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ การตรวจสอบอาคารจะช่วยเพิ่มความมั่นใจได้มากขึ้นว่า อย่างน้อยที่สุด อาคารมีความปลอดภัยด้านอัคคีภัยตามมาตรฐานที่กำหนดโดยกฎหมาย หากเจ้าของมีการปรับปรุงจุดบกพร่องที่ตรวจพบ
การตรวจสอบระดับความปลอดภัยของอาคารในส่วนที่เกี่ยวกับอัคคีภัย ครอบคลุมระบบทั้งหมดภายในอาคารในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยและการควบคุมเพลิง นับตั้งแต่ ช่องทางและบันไดหนีไฟ ป้ายสัญญาณบอกทางหนีไฟ ระบบพัดลมอัดความดันสำหรับบันไดหนีไฟ ไฟสำรองฉุกเฉิน ลิฟต์สำหรับพนักงานดับเพลิง อุปกรณ์ดับเพลิง เครื่องสูบน้ำดับเพลิง ระบบสปริงเกลอร์ และระบบสายล่อฟ้า การตรวจสอบเหล่านี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มั่นใจว่า ระบบป้องกันอัคคีภัยทุกส่วนมีความพร้อมใช้งานและได้รับการซ่อมบำรุงรักษาที่ดีพอ การตรวจสอบยังครอบคลุมถึงระบบการบริหารจัดการความปลอดภัย ซึ่งรวมถึงแผนการป้องกันอัคคีภัยและการควบคุมเพลิง แผนการจัดการซ้อมหนีไฟ และแผนการตรวจสอบอาคารและความปลอดภัย
โจนส์ แลง ลาซาลล์ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค เป็นบริษัทบริการมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยให้บริการที่ครบวงจรโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกแก่ลูกค้าที่ต้องการคุณค่าสูงสุดจากการเป็นเจ้าของ ใช้ประโยชน์หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ดำเนินธุรกิจใน 70 ประเทศ ผ่านสำนักงาน 200 สาขา
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
วินัย ใจทน 02 624 6540