การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว สะท้อนถึงการที่ฟิทช์ได้มีการทบทวนและปรับระดับความแตกต่างของอันดับเครดิตระหว่างธนาคารแม่ หรือ Standard Chartered Bank (SC; ‘AA-’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) กับ SCBT เป็น 1 ระดับจากเดิมที่เป็น 2 ระดับ หลังจากการปรับเพิ่มอันดับเครดิตนี้ อันดับเครดิตของ SCBT จะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับธนาคารลูกอื่นๆ ของ SC ในภูมิภาคนี้ ซึ่งมีอันดับเครดิตอยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของธนาคารแม่ไม่เกิน 1 ระดับ ฟิทช์มองว่า SCBT และ SC มีการประสานงานและรวมระบบเข้าด้วยกัน (integration) มากขึ้น ในช่วงหลายปีที่ผ่าน และโอกาสในการที่ SC จะให้การสนับสนุนกับ SCBT น่าจะใกล้เคียงกับธนาคารลูกทุกแห่ง เนื่องจาก SC เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดและมีอำนาจควบคุม
อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตสนับสนุนของ SCBT พิจารณาถึงการถือหุ้นและการสนับสนุนจากธนาคารแม่ ทั้งนี้สัดส่วนการถือหุ้น 99.9% ของ SC เป็นนโยบายการลงทุนระยะยาว และ SC ได้มีการควบคุมการบริหารงานผ่านทางคณะกรรมการและคณะผู้บริหารของ SCBT เมื่อพิจารณาถึงชื่อเสียงและฐานะทางการเงินของ SC ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ SCBT จะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น หากมีความจำเป็น ทั้งนี้แนวโน้มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT สะท้อนถึงแนวโน้มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating) ของธนาคารแม่ที่มีแนวโน้มเป็นลบ ในขณะที่แนวโน้มมีเสถียรภาพของอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว สะท้อนถึงการที่อันดับเครดิตดังกล่าวถูกจำกัดโดย เพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย (Country Ceiling)
การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารแม่ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดคิดของสัดส่วนการถือหุ้นของ SC หรือระดับการสนับสนุน อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ SCBT
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ของ SCBT สะท้อนถึงสถานะทางการเงินโดยรวม ของธนาคาร ซึ่งยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับธนาคารในประเทศอื่นที่มีอันดับเครดิตในระดับเดียวกัน แม้ว่า SCBT จะเป็นธนาคาร ขนาดกลาง SCBT มีเงินกองทุนหลักตามการคำนวณของฟิทช์ (Fitch Core Capital) ที่ 17% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงเทียบกับธนาคารในประเทศไทยที่ฟิทช์ได้ทำการจัดอันดับ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารอาจได้รับผลกระทบเชิงลบหากมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของ SCBT ซึ่งวัดได้จากสินเชื่อที่เติบโตอย่างสูงเกินไป หรือจากการที่สินเชื่อมีการกระจุกตัวเพิ่มขึ้นมากในบางกลุ่มอุตสาหกรรม และ/หรือ การที่เครือข่ายการดำเนินธุรกิจ (franchise) ของธนาคารอ่อนแอลง
SCBT ซึ่งเดิมคือ ธนาคารนครธน ก่อตั้งในปี 2476 โดยตระกูลหวั่งหลี ด้วยผลจากวิกฤติการทางการเงินปี 2540 ทำให้รัฐบาลเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในธนาคารนครธน และต่อมา SC ได้เข้าซื้อกิจการของธนาคาร SCBT เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 9 ของประเทศไทย ทั้งนี้ธนาคารมีสัดส่วนการตลาดต่ำกว่า 2% ทั้งในด้านสินเชื่อและเงินฝาก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554
ประกาศอันดับเครดิตของธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอ์ด (ไทย) มีดังนี้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเคดริตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F2’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวที่ ปรับเพิ่มอันดับเครดิตเป็น ‘A+’ จาก ‘A’ แนวโน้มอันดับเครดิต เป็นลบ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F1’
- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับเครดิตที่ ‘bbb+’
- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับเครดิตที่ ‘2’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F1+(tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของโครงการหุ้นกู้ระยะสั้นไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน คงอันดับเครดิตที่ ‘F1+(tha)’