นอกจากนี้ การเป็นประชาคมยังช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศทุกด้าน รวมถึงความสามารถในการรับมือกับปัญหาใหม่ๆ ในระดับโลกที่ส่งผลกระทบมาถึงภูมิภาค เช่น สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่วนเรื่องความท้าทายนั้น ยังมีหลายปัจจัยที่อาเซียนต้องคำนึงถึง เช่น ความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา และระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิก วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก ผลกระทบทางลบจากการเชื่อมโยงภูมิภาค เช่น ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การลักลอบการค้ามนุษย์ การค้าอาวุธ ยาเสพติด การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมถึงสร้างความรู้สึกร่วมของประชาชนให้ตระหนักถึงหน้าที่ในการเป็นประชากรของอาเซียน
ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องพร้อมรับกับการก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า ทั้งในเชิงรุกที่จะทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการเป็นประชาคมอาเซียน และในเชิงรับที่ต้องปกป้องและแก้ไขผลกระทบในแง่ลบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยขณะนี้ กระทรวงไอซีที อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งจะครอบคลุมภารกิจต่างๆ ของกระทรวงฯ ทั้งด้านการพัฒนาไอซีที การเตือนภัยพิบัติ และความร่วมมือด้านสถิติ รวมทั้งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานความร่วมมืออาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศในการกำกับดูแลและขับเคลื่อนการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเป็นประชาคมอาเซียนด้วย
ด้าน นายอาจิน จิรชีพพัฒนา ผู้อำนวยการสำนักกิจการระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อมีการเห็นชอบให้จัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นภายในปี 2558 ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ TELMIN ครั้งที่ 8 เมื่อเดือนสิงหาคม 2551 จึงได้เห็นชอบโครงการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน หรือ ASEAN ICT MASTERPLAN 2015 และอนุมัติการสนับสนุนเงินจากกองทุน ASEAN ICT Fund เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทิศทางกิจกรรมความร่วมมือด้านไอซีทีและสนับสนุนการรวมกลุ่ม ของอาเซียน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านไอซีที ซึ่งต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นเพื่อร่วมพิจารณาจัดทำแผนแม่บทฯ รวมทั้งให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยมีผู้แทนของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเข้าร่วมในคณะกรรมการดังกล่าว
หลังจากนั้นในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 10 เมื่อเดือนมกราคม 2554 ที่ประชุมได้มีการรับรองแผนแม่บท ASEAN ICT Masterplan 2015 และมีการประกาศแผนแม่บทฉบับดังกล่าวอย่างเป็นทางการ โดยเป็นแผนแบบเบ็ดเสร็จที่มีการระบุยุทธศาสตร์ แผนการดำเนินงาน เป้าหมาย รวมทั้งระยะเวลาการดำเนินการภายใน 5 ปีที่ชัดเจน และภายหลังจากการรับรองแผนแม่บทฯ แล้ว ที่ประชุมอาเซียนยังได้เห็นชอบให้สมาชิกแต่ละประเทศจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์แผนแม่บทฯ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคการศึกษา ได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการผลักดันแผนดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ
กระทรวงฯ จึงได้จัดให้มีการสัมมนาเผยแพร่และประชาสัมพันธ์แผนแม่บท ASEAN ICT Masterplan 2015 อย่างเป็นทางการขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเป็นประชาคมอาเซียน รวมทั้งกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตลอดจนบทบาทของประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และผู้สนใจประมาณ 250 คน นอกจากนั้น กระทรวงฯ ยังได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยศรีปทุม สมาคมโทรคมนาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย มาร่วมให้ความรู้ และข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์กับผู้เข้าร่วมสัมมนาอีกด้วย