รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินปลูกป่าชายเลน ครั้งแรก ณ บริเวณค่ายพระรามหก โดยทรงปลูกต้นโกงกางใบใหญ่ จำนวน 202 ต้น เป็นปฐมฤกษ์ หลังจากนั้นหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ได้มาร่วมสนองพระราชดำริในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน ทำให้ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวได้กลายเป็นผืนป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัยและที่หลบภัยของสัตว์น้อยใหญ่ มีความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดเป็นห้องเรียนธรรมชาติ
ดังนั้นกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริและมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้า เพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี ได้ร่วมกันจัดตั้งอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติ ณ ค่ายพระรามหก อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่เจริญพระชนมายุครบ 4 รอบ ในปีพุทธศักราช 2546 และได้รับพระราชทานนามว่า “อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร” (The Sirindhorn International Environmental Park) ตั้งอยู่ ณ ค่ายพระรามหก ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นประธานมูลนิธิอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โดยมีแนวทางในการดำเนินการตามแนวพระราชดำริและพระราชกรณียกิจที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงงานในบริเวณค่ายพระรามหก อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และเป็นแนวทางในการดำเนินงานให้อุทยานเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ตลอดจนเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระปรีชาสามารถในด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม ให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และเป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ทางด้านการฟื้นฟูป่าชายเลน ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณ และที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด ตลอดจนเป็นสถานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงประวัติศาสตร์ อันทรงคุณค่าของประเทศไทยและของโลก
ภายใน อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร มีกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย ประกอบด้วยศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ค่ายอนุรักษ์พลังงาน ค่ายสิ่งแวดล้อมนานาชาติ ห้องสมุดพลังงานและสิ่งแวดล้อม นิทรรศการเศรษฐกิจพอเพียง และกิจกรรมห้องเรียนธรรมชาติ เช่น ศูนย์การเรียนรู้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบควบรวมบึงประดิษฐ์ ศูนย์เรียนด้านการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง
ผู้อำนวยการฯ กล่าวต่อว่า ในส่วนของกิจกรรมห้องเรียนธรรมชาตินั้นจะมีสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์มากมายหลากหลายประเภทและสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน ป่าบกและป่าชายหาด โดยเฉพาะ ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมของทุกปี จะมีนกอพยพหลากหลายกลุ่มเข้ามาพักอาศัยและหาอาหารในบริเวณอุทยานก่อนย้ายไปทางตอนใต้ของประเทศไทย อาทิ กลุ่มนกนางนวล กลุ่มนกเหยี่ยวขนาดกลางและขนาดเล็ก กลุ่มนกยาง กลุ่มนกชายเลน นอกจากนี้ยังสามารถพบนกประจำถิ่นที่มีตลอดปี เช่น นกกะรางหัวขวาน ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือสามารถแผ่ขนที่หัวและหางได้สวยงามมาก
ภายในอุทยานฯ ยังมีกิจกรรม “นักสืบชายหาด” ที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้เรียนรู้สิ่งมีชีวิตในทะเล ด้วยการสำรวจความหลากหลายของสัตว์ทะเล เช่น เม่นทะเล เพียง ไส้เดือนทะเล ไรทะเล ปูทะเล ปูม้า ปลา กุ้ง หอย นานาชนิดรวมถึงซากเกยหาด ซากเปลือกหอย พร้อมกันนี้ยังจะได้เรียนรู้วิถีการทำประมงที่ไม่ทำลายสมดุลของธรรมชาติกับชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่อีกด้วย
“กิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของอุทยานฯ นอกจากจะทำให้ผู้เข้าชมได้พบเห็นความสวยงามของธรรมชาติแล้ว ยังทำให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญของห่วงโซ่อาหาร การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย การปรับตัวของสิ่งมีชีวิต อันนำไปสู่การมีทัศนคติในการร่วมกันอนุรักษ์ ปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” รศ.ดร.เสรี กล่าว
อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ตั้งอยู่ที่ 1281 ค่ายพระรามหก ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เปิดบริการทุกวัน (จันทร์ — อาทิตย์) เวลา 8.30 — 15.00 น.
รายละเอียดเพิ่มเติม :
สุวินี พินิจทรัพย์สิน 084 088 8612