ดร.สมหมาย กล่าวอีกว่า บริษัทมีนโยบายส่งเสริมและดำเนินกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมมาตลอด ด้วยการปลูกป่าชายเลนซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2536 เริ่มจากภายในองค์กรก่อนด้วยการนำทีมผู้บริหารและพนักงานดำเนินการเพิ่มผืนป่าด้วยตนเอง เมื่อซีพีเอฟเริ่มหลายๆ องค์กรก็ให้ความสนใจและขอเข้าร่วมกิจกรรม โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ ได้รับความกรุณาจาก ศาสตราจารย์ ดร.สนิทอักษรแก้ว เมธีวิจัยอาวุโส และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติปีพ.ศ.2542 ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าชายเลนที่ให้หลักการดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนให้เป็นโครงการต่อเนื่อง 5-10 ปี บนพื้นที่เดียวกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืน จึงเกิดเป็นโครงการ “ซีพีเอฟชวนคนไทยปลูกป่าชายเลน”
“ตั้งแต่เริ่มเปิดตัวกิจกรรม “ซีพีเอฟชวนคนไทยปลูกป่าชายเลน” เมื่อต้นปีพ.ศ.2554 จนถึงสิ้นปีที่ผ่านมา พบว่าสามารถเพิ่มปริมาณต้นไม้ชายเลนได้มากถึง 92,478 ต้นสร้างผืนป่ากว่า 190 ไร่ ช่วยฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมสร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมและตระหนักถึงคุณค่าของป่าชายเลนแก่ผู้ร่วมโครงการกว่า 4,500 คน ที่สำคัญการดำเนินกิจกรรมจะเน้นความยั่งยืนภายใต้ความร่วมมืออย่างเข้มแข็งของทั้งบุคลากรของซีพีเอฟชุมชน และนักศึกษาจากหลายสถาบันที่ร่วมโครงการ โดยดึงศักยภาพและความเข้มแข็งของทุกฝ่ายมาดำเนินงานอย่างสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการเพิ่มผืนป่าเท่านั้น ยังร่วมกันกลับไปดูแลผืนป่าให้เติบโต ด้วยการปลูกซ้ำหากมีต้นไม้เสียหาย รวมถึงการขูดเพรียงซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะยับยั้งการเจริญเติบโตของไม้ชายเลน และการดูแลอื่นๆ เชื่อว่าการให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นการผลักดันให้เกิดผืนป่าที่สมบูรณ์เพื่อประโยชน์ที่จะมีต่อชุมชนต่อไป และบริษัทตั้งใจให้กิจกรรมนี้เป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เพื่อร่วมสร้างจิตสำนึกคนทั้งประเทศให้รู้จักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ“ ดร.สมหมายกล่าว
สำหรับในปีพ.ศ. 2555 นี้โครงการซีพีเอฟชวนคนไทยปลูกป่าชายเลน มีแนวการดำเนินกิจกรรมตลอดทั้งปี ขณะเดียวกัน ยังได้ประสานกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนในภาคกลาง ตะวันออก และใต้ เพื่อเสาะหาพื้นที่ป่าชายเลนผืนใหญ่ สำหรับดำเนินโครงการพัฒนาสถาบันป่าชายเลนซีพีเอฟ ให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของเยาวชนและบุคคลทั่วไปในอนาคต โดยดึงศักยภาพชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกระดับพร้อมปลูกจิตสำนึกรักษ์ป่าชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง.