นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นางพิรมล เจริญเผ่า) จัดทำและกำกับดูแลการดำเนินโครงการขยายโอกาสการค้าและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเลือกศึกษาเส้นทางประเทศแถบอ่าวเบงกอล (BIMSTEC) ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรกว่า 1,500 ล้านคน เหมาะแก่การขยายฐานการผลิต และแสวงหาวัตถุดิบในการผลิต รวมทั้งต่อยอดการส่งออกสินค้าที่ผลิตในประเทศนั้นๆ เข้าสู่ตลาดต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศ
นายยรรยง กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ เป็นการรายงานผลจากการดำเนินโครงการฯ โดยที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งการให้ความรู้ด้านกฎ ระเบียบ ลู่ทางการค้า การลงทุน มีกิจกรรมเข้าเยี่ยมชมโรงงานและสำรวจแหล่งธุรกิจ เพื่อหาลู่ทางในการขยายการค้าการลงทุนไทยผ่านเครือข่ายโลจิสติกส์ไปยังประเทศเป้าหมายแถบอ่าวเบงกอล (BIMSTEC) ได้แก่ สหภาพเมียนมาร์ บังคลาเทศ (ธากา) และอินเดีย (กัลกัตตา) โดยมีบริษัทขนาดใหญ่จากไทยและประเทศคู่ค้า ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจกว่า 180 แห่ง ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรม
นายยรรยง กล่าวต่อว่า จากการศึกษาดังกล่าวทำให้ทราบว่า สินค้า/บริการที่มีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตสูง ในสหภาพเมียนมาร์ ได้แก่ ระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ก่อสร้าง กำจัดขยะ บรรจุภัณฑ์ (ขวดแก้ว ขวดพลาสติก) โรงงานอาหารสำเร็จรูป โรงแรม โรงพยาบาล ธุรกิจบริการด้านทีวี บันเทิง การจัดงานประชุม/สัมมนา สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องนุ่งห่ม บังคลาเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป (วัตถุดิบจำนวนมาก แต่ขาดเทคโนโลยีและการผลิตและการถนอมอาหาร) สาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า กำจัดขยะ กำจัดน้ำเสีย บรรจุภัณฑ์จากแก้ว/พลาสติก และอินเดีย ได้แก่ ระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า กำจัดขยะ กำจัดน้ำเสียบรรจุภัณฑ์ (ขวดพลาสติก) อัญมณีและเครื่องประดับ
“การจัดกิจกรรมดังกล่าวประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ (ได้ผลทางธุรกิจกว่า 70%) ภาคเอกชนไทยได้รับความรู้ด้านกฎระเบียบการค้าการลงทุน รับทราบปัญหา/อุปสรรค และแนวทางการแก้ไขอย่างแท้จริง จากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องโดยตรง เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจดำเนินธุรกิจ ทำให้เห็นภาพของตลาดจริง/พฤติกรรมผู้บริโภค/ลู่ทางที่จะขยายตลาดอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เน้นการร่วมลงทุน ทั้ง Inside-out และ Outside-in นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสอันดีสำหรับภาคเอกชนในการซักถามประเด็นข้อสงสัยในคราวประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้รับคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเข้าไปลงทุน ตลอดจนเกิดสายสัมพันธ์ระหว่างกันมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจและเอกชนไทยที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ยังต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐในการแก้ไขปัญหา หรือการเจรจาระดับรัฐต่อรัฐ หากจะมีการร่วมทุนอย่างจริงจัง โดยหลังจากดำเนินโครงการนี้เสร็จสิ้นแล้ว กระทรวงฯ จะได้ติดตามผลอย่างใกล้ชิด ในการลดอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นจากการประสานธุรกิจ โดยจะเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน และให้บริการแบบบ่มเพาะเฉพาะกลุ่ม อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว” นายยรรยง กล่าว