นายวุฒิชัย ดวงรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยถึงผลกระทบโครงการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ในประเทศไทย กรณีศึกษาศูนย์ค้าส่งสินค้าไทย — จีน หรือ ไซน่า ซิตี้ คอมเพล็กซ์(China City Complex) ว่า จากผลการศึกษานี้พบทั้งโอกาสและความท้าทายที่ต้องเร่งพัฒนาแรงงาน การบูรณาการกฎหมายมาใช้อย่างเข้มแข็ง ภายใต้ศักยภาพของไทยในความเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN LOGISTICS HUB) ซึ่งผลการศึกษาทั้งหมด กรมฯจะเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาเพื่อดำเนินการนำข้อเสนอของภาคเอกชนที่ได้รับและไม่ได้รับผลกระทบ รวมถึงเสนอมาตรการรองรับของหน่วยงานภาครัฐ
“สัมมนาครั้งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ 300 รายในไทยที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งผู้เข้าร่วมฟังควรจะนำผลการวิจัยไปสร้างกลยุทธ์และหาแนวทางการป้องกันของโครงการฯที่อาจจะเกิดขึ้นต่อประเทศและต่ออุตสาหกรรมของตนเอง แนวทางในการปรับตัวของไทยนั้น ผมมีความเห็นว่า ต้องมองให้เห็นถึงโอกาสในธุรกิจเป็นพันธมิตรเพื่อลงทุนในจีน พันธมิตรเพื่อตลาดส่งออก หรือ แหล่งวัตถุดิบเพื่อให้ต้นทุนต่ำลง ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นที่รู้จักกับผู้ประกอบการจีนมากขึ้น”นายวุฒิชัย กล่าว
นอกจากนี้จากเขตการค้าเสรี 9 ประเทศ ( 13 ความตกลง) ที่ไทยทำไว้ควรใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวให้เต็มที่ ซึ่งบางความตกลงมีจีนทำร่วมกับไทยด้วย และต้องปรับทัศนคติในการทำธุรกิจ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นตลอดเวลาและเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ เข้าสู่ธุรกิจของตนให้ได้ เพื่อต่อยอดธุรกิจและศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อสร้างโอกาสในทางธุรกิจให้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อการเปิดเสรีการค้าอาเซียนเต็มรูปแบบในปี 2558
นางเนตรปรียา ชุมไชโย ผอ.สำนักโลจิสติกส์การค้า กรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า ศูนย์ฯนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ อาทิ ในเวียงจันทร์ ประเทศลาว ซึ่งศูนย์ฯที่เปิดให้บริการซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคทางรัฐบาลและประชาชนให้การต้อนรับ เนื่องจากลาวยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจำนวนมาก ขณะที่ได้ซื้อสินค้าราคาถูก เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ในขณะที่รัสเซียซึ่งมีถึง 3 แห่ง เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยบางส่วนต้องปรับตัว ด้วยการนำเข้าสินค้าจีนมาขายต่ออีกทอดหนึ่ง สิงคโปร์ ไม่ได้เปิดให้ขายสินค้าจีนเต็มพื้นที่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เปิดพื้นที่ให้ชาติอื่นเช่าเพื่อลดแรงกดดันจากสถานะที่สิงคโปร์เป็นผู้นำเข้าสินค้า(เทรดเดอร์)รายใหญ่ของภูมิภาคนี้ เป็นต้น ส่วนในไทยความจริงศูนย์ฯแบบนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ถูกย่อส่วนตามจุดค้าขายสำคัญหลายแห่ง และที่กำลังจะเปิดล่าสุด คือ ที่จ.เชียงใหม่ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐกำลังจับตาดูอยู่ว่า จะใช้รูปแบบใดในการบริหารงาน
สำหรับผลการวิเคราะห์โอกาสจากศูนย์ค้าส่งสินค้าไทย-จีนทำให้กรมฯเห็นโอกาสในระดับประเทศ คือ จ้างงานภายในเพิ่มขึ้น(ในระยะแรก) มีเงินหมุนเวียนทำให้เศรษฐกิจเติบโต สร้างจุดซื้อแห่งใหม่ เกิดการตื่นตัวเพื่อพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการ ด้านผู้ประกอบการเกิดเอสเอ็มอีทำธุรกิจในเชิงรุกมากขึ้น เป็นแหล่งช้อปปิ้งใหม่ในเอเชีย จัดซื้อวัตถุดิบได้สะดวกรวดเร็วและธุรกิจเกี่ยวเนื่องได้ประโยชน์ในระยะสั้น ส่วนผู้ประกอบการมีทางเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น สะดวกในการหาซื้อสินค้าได้ครบวงจร
สำหรับผลกระทบนั้นมองได้ 6 มิติ กล่าวคือ ด้านการค้าอาจเกิดการสวมสิทธิแหล่งกำเนิดสินค้าเป็นเมดอินไทยแลนด์ ทำให้ธุรกิจเกิดความเสียหายต่อสายตาชาวโลก ในขณะที่ไทยเป็นที่รับทราบในตลาดโลกว่า เป็นส่งออกสินค้าคุณภาพ ตรงต่อเวลาและเชื่อถือได้ และวิเคราะห์ว่าในอนาคตจีนอาจมาตั้งฐานการผลิตสินค้าจีนในไทยเพื่อส่งออก ด้านการผลิต จีนมีการผลิตครบวงจร ดังนั้นทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยด้อยกว่าจีนอย่างเห็นได้ชัด ผู้ประกอบการไทยต้องสร้างกลยุทธ์ในการแข่งขันใหม่เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ โดยปรับปรุงคุณภาพสินค้าอยู่เสมอเพื่อยากต่อการเลียนแบบและทำให้มีความหลากหลาย หากไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจีนได้ อาจต้องเลิกกิจการเหมือนในประเทศต่างๆ ที่ศูนย์ฯนี้ไปตั้งอยู่
ด้านแรงงาน อาจมีแรงงานจำนวนมากจากจีนหลั่งไหลเข้ามาในไทย ทำให้ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานในประเทศและอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง สร้างปัญหาต่อสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของประชาชนไทย ด้านโลจิสติกส์นั้น ในระยะแรกจะได้ประโยชน์ ภายใต้การเปิดประชาคมอาเซียน(เออีซี) ไทยจะเป็นช่องทางผ่านและเข้าถึงของสินค้าจากอาเซียน ซึ่งจีนจะวางบริบทไทยเป็นประตูการค้าสู่ตลาดอาเซียน รวมถึงยุโรปและสหรัฐ ด้วยความพร้อมของระบบโลจิสติกส์ในอาเซียนที่เชื่อมถึงไทย แต่โดยธรรมชาติของผู้ประกอบการจีนมักจะทำธุรกิจแบบครบวงจรและเชื่อว่าในระยะกลางจนถึงระยะยาวจีนจะนำผู้ให้บริการขนส่งจีนมาให้บริการเอง
ส่วนมิติผู้บริโภคนั้น สินค้าของจีนส่วนใหญ่มีคุณภาพต่ำและราคาถูก ซึ่งสินค้าจีนมีหลายระดับตั้งแต่คุณภาพสูงจนถึงคุณภาพต่ำ ดังนั้นในระยะสั้น ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าราคาถูก แต่เมื่อมองไปในเรื่องคุณภาพและอายุการใช้งาน คุณภาพชีวิตจะแย่ รวมไปถึงขยะที่จะเกิดขึ้น เพราะอายุการใช้งานสั้น โดยเฉพาะสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงสินค้าอาหารที่หลายประเทศได้ปฏิเสธสินค้าบางประเภทของจีน เนื่องจากปัญหาสารตกค้าง สิ่งปลอมปน รวมถึงสารตะกั่ว สารปรอทที่เกินค่ามาตรฐาน ที่มองด้วยตาไม่เห็นในการจำหน่ายปลีก
และมิติด้านบริการและท่องเที่ยว ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านบริการสุขภาพเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคและมีแหล่งท่องเที่ยวที่ทั่วโลกต่างยอมรับ เมื่อศูนย์ฯเกิดขึ้นไทยจะได้ประโยชน์จากผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาในไทย แต่นักธุรกิจต่างชาติอาจเปลี่ยนไปซื้อสินค้าจีนไปประเทศของนักธุรกิจนั้นๆ แทนที่ไทย โดยใช้ระบบการเงินและการธนาคารที่ไทยมีมาตรฐานและความน่าเชื่อถือมากกว่า รวมถึงสรรหาสินค้าเอกลักษณ์จากไทยเข้าไปขายในแต่ละประเทศแทนผู้ส่งออกไทยด้วย
“เป็นที่ทราบกันดีว่า จีนเป็นแหล่งผลิตอันดับ1ของอุตสาหกรรม ด้วยความเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจและสังคม ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ต้นทุนแรงงานที่ต่ำ รวมถึงมีตลาดขนาดใหญ่ภายในประเทศ ซึ่งแบ่งเป็นคลัสเตอร์อย่างชัดเจน ปัจจุบันสินค้าส่วนใหญ่ต่างถกส่งไปค้าขายหรือกระจายไปยังเมืองและประเทศต่างๆ มากกว่า 300 ประเทศทั่วโลกผ่านเมื่ออี้อู มณฑลเจ้อเจียง “อี้อูโมเดล”เป็นศูนย์กลางตลาดขายส่งและกระจายสินค้าเบ็ดเตล็ดนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในจีนและในโลก มีพื้นที่กว่า 4 ล้านตร.ม. 7 หมื่นร้านค้า มีสินค้ามากกว่า 2 ล้านชนิด ใช้เงินลงทุนกว่า 700 ล้านหยวน”
ทั้งนี้มีนักธุรกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกไปทำการค้าขายและส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 1,000 คอนเทนเนอร์ นับเป็นความสำเร็จจีนได้พยายามนำรูปแบบธุรกิจนี้เป็นต้นแบบในการรุกคืบสู่ตลาดต่างๆ ในอาเซียนและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันมีที่ประเทศลาว สิงคโปร์ สเปน รัสเซีย(3ที่) เป็นต้น ซึ่งต่างให้การต้อนรับและไม่อาจปฏิเสธได้กับการรุกคืบธุรกิจของจีน เพราะทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ต่างได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของแต่ละประเทศและผู้ประกอบการ รูปแบบธุรกิจที่เป็นไปได้ของศูนย์ค้าส่งสินค้าส่งออกนานาชาติของประเทศไทยภายใต้ อี้อู โมเดล (Yiwu Model)
สำนักประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการส่งออก โทร.(02) 507-7932-34