จากผลการตรวจสอบคุณภาพยาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในโครงการเฝ้าระวังคุณภาพยาที่มีส่วนผสมของสมุนไพร ระหว่างปี 2548-2552 ที่ผ่านมา ทั้งหมด 626 ตัวอย่าง ในปี 2548 พบว่า มีสารสเตียรอยด์ปลอมปนอยู่ที่ 30.5% ปี 2549 อยู่ที่ 41.8% ปี 2550 อยู่ที่ 40.8% ปี 2551 อยู่ที่ 18.7% และ ปี 2552 ลดลงอยู่ที่ 12.7% แม้ปริมาณจะมีแนวโน้มลดลง แต่การปลอมปนสารสเตียรอยด์นอกจากจะทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่ได้คุณภาพแล้ว สเตียรอยด์ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคด้วย โดยเฉพาะผู้ที่กินอย่างต่อเนื่องยิ่งจะเกิดอันตรายมากขึ้น เพราะโดยปกติแล้ว “สเตียรอยด์” ถูกจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ไม่สามารถขายในร้านขายยาได้หากไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์ ผู้ที่รับประทานยาสมุนไพรหรือยาแผนโบราณ ที่ปนเปื้อน สารสเตียรอยด์ นอกจากผลการรักษาจะไม่ดีขึ้นแล้ว ในระยะยาวก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างมากมาย เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร เนื่องจากสเตียรอยด์ไปทำให้ผนังกระเพาะอาหารและลำไส้บางลง หากได้รับไปนานๆ ผนังทางเดินอาหารก็จะบางตัวลง และเกิดแผลเลือดออกได้ กระดูกบาง การใช้สเตียรอยด์จะไปกระตุ้นเซลล์ในกระดูกชนิดหนึ่งร่วมกับกระตุ้นระบบฮอร์โมน ทำให้กระดูกถูกละลายบางลง ซึ่งในคนสูงอายุก็จะลงท้ายด้วยกระดูกพรุนและเกิดกระดูกหักได้ง่าย กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย บดบังอาการติดเชื้อต่างๆ เมื่อร่างกายติดเชื้อก็จะไม่มีอาการเจ็บไข้ให้เห็น ทำให้ดูเหมือนสบายดี และเนื่องจากสเตียรอยด์กดภูมิคุ้มกันของร่างกายเอาไว้
ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทยได้ผลิต “ชุดทดสอบสเตียรอยด์ในยาแผนโบราณ”ซึ่งเป็นชุดทดสอบอย่างง่าย ที่มีศักยภาพในการตรวจหาสารสเตรียรอยด์ที่นำมาปลอมปนในยาแผนโบราณประเภทต่างๆ สามารถใช้งานได้ง่าย ทราบผลเร็วและมีค่าใช้จ่ายในการตรวจที่ถูก เหมาะสำหรับเป็นเครื่องมือภาคสนามที่สามารถใช้ในการตรวจสอบเฝ้าระวังความไม่ปลอดภัยของสารสเตียรอยด์ที่อาจปลอมปนมาในยาสมุนไพรหรือยาแผนโบราณที่มีขายตามท้องตลาดเพื่อเป็นการคุ้มครองสุขภาพประชาชนในทุกๆ ชุมชน สามารถซื้อได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 0 2951 0000 ต่อ 98463 หรือได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ และหน่วยงานที่มีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เช่น สำนักงานสาธารณสุข อบต. เทศบาล โรงเรียน ประชาชนทั่วไป ราคาเพียงชุดละ 65 บาท