นายอภัยชนม์ กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นให้นักเรียนมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น ทั้งยังได้เรียนรู้การบริหารจากการทำงานจริง ตลอดจนโรงเรียนมีการบริหารจัดการโครงการที่สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จนเกิดการบูรณาการกิจกรรมสู่การเรียนการสอน และขยายผลสู่กิจกรรมอื่นหรือนำรูปแบบไปขยายในเครือข่ายของโรงเรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม สำหรับการดำเนินโครงการความร่วมมือภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก JCC มีกรอบระยะเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2543 ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาพื้นฐาน (สพฐ.) และต่อมาในปี 2548 ได้ขยายผลการดำเนินการร่วมกับสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อดำเนินการเพิ่มเติมในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ด้วยการขยายโครงการปีละ 5-8 โรงเรียน และสนับสนุนงบประมาณดำเนินโรงเรียนละ 100,000-200,000 บาท
ด้าน นายซูซูมุ อุเนโนะ (Mr.Susumu Uneno) ประธานคณะกรรมการฝ่ายความช่วยเหลือสังคม หอการค้าญี่ปุ่น — กรุงเทพฯ เสริมว่า การร่วมสนับสนุนโครงการเลี้ยงไก่ไข่นี้ เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของ JCC ที่ต้องการจัดทำโครงการเพื่อร่วมเฉลิมฉลอง เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระชนมายุครบ 6 รอบ (72 พรรษา) ในปี 2543 จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน มานานกว่า 12 ปี ถึงปัจจุบันได้ดำเนินการในโรงเรียนสังกัดสพฐ. 62 แห่ง และโรงเรียนตชด. 17 แห่ง รวม 79 แห่ง ใน 30 จังหวัด โดย JCC ให้การสนับสนุนงบประมาณรวม 16.46 ล้านบาท
ทั้งนี้ รูปแบบการดำเนินโครงการฯ คือ JCC ให้การสนับสนุนงบประมาณสำหรับก่อสร้างโรงเรียนพร้อมอุปกรณ์การเลี้ยง พันธุ์ไก่ไข่ อาหาร และยาสัตว์ในการเลี้ยงรุ่นแรก ด้านกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้เสนอรายชื่อโรงเรียนเพื่อเข้าร่วมโครงการ ส่วนมูลนิธิพัฒนาชนบทฯ บริหารจัดการโครงการและงบประมาณ คัดเลือกโรงเรียนที่จะดำเนินโครงการ จัดทำแผนการดำเนินงาน ติดตามและรายงานผล โดยมีซีพีเอฟ ทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคนิควิชาการและการจัดการ และเข้าดูแลให้คำปรึกษาแก่อาจารย์และนักเรียนผู้ดูแลโครงการ เพื่อให้มีประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด