ทั้งนี้ ในการสร้างโอกาสทางการตลาดและโอกาสในการแข่งขันสำหรับผู้ประกอบการไทยจากตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศนั้น ได้กำหนดให้มีหน่วยศึกษาและคาดการณ์ตลาดและอุตสาหกรรม ICT (ICT Industry Intelligence) โดยสนับสนุนให้มีการพัฒนาฐานข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและตลาด ICT ของประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อใช้ในการวางแผนส่งเสริมการตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้จัดทำโครงการเพื่อศึกษาวิจัย วิเคราะห์โครงสร้างข้อมูล และการวิเคราะห์ออกแบบและพัฒนาระบบฐานข้อมูลอุตสาหกรรมและตลาด ICT ของประเทศไทย หรือที่เรียกว่า NI? ที่ย่อมาจาก National ICT Industry Intelligence โดยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 ซึ่งในปีงบประมาณ 2554 ได้เริ่มดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ ออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลอุตสาหกรรมและตลาด ICT ของประเทศไทย (NI?) โดยได้มีการประชุมหารือและสัมมนาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือในการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลและสารสนเทศอย่างต่อเนื่อง
“ขณะนี้ กระทรวงฯ ได้ทำการศึกษาและปรับปรุงแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลอุตสาหกรรมและตลาด ICT ของประเทศไทยในระยะยาว โดยเป็นผลจากการศึกษากระบวนการร่วม และความสอดคล้องข้อมูลและสารสนเทศ รวมทั้งได้กำหนดแผนการดำเนินงานเป็นแผนระยะยาวปี 2556 - 2557 ซึ่งแผนการดำเนินงานดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้มีการจัดประชุมเพื่อรับฟังและให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการศึกษาและการกำหนดแผนการดำเนินงานในระยะยาว เพื่อให้สามารถดำเนินงานโครงการโดยบูรณาการร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมและตลาด ICT ของประเทศไทยอย่างสัมฤทธิผลต่อไป” นางอังคณา กล่าว
สำหรับแนวทางการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลและจัดทำมาตรฐานข้อมูลด้านอุตสาหกรรม ICT นั้น ได้มีการวางแนวทางการบริหารจัดการโครงการและด้านเทคนิคสำหรับการพัฒนาระบบข้อมูลกลางด้านอุตสาหกรรมและตลาด ICT ของประเทศไทย (National ICT Industry Intelligence : NI?) เอาไว้ โดยใช้แนวทางมาตรฐานการพัฒนาซอฟต์แวร์ ISO/IEC 29110 ส่วนแนวทางและกลไกในการบริหารและให้บริการฐานข้อมูลกลางด้านอุตสาหกรรม ICT ของประเทศไทยนั้น เป็นการบูรณาการความร่วมมือกับสำนักมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรมบัญชีกลาง
นอกจากนี้เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กระทรวงฯ จะได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) บูรณาการข้อมูลผู้ประกอบการซอฟต์แวร์เพื่อจัดทำ Business matching พร้อมทั้งจะมีการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม ASEAN ด้วย ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบ ASEAN ICT eMall ซึ่งกระทรวงฯ จะเป็น Focal Point ในการดำเนินการ