คุณครูมะปราง วงษ์ยะรา คุณครูประจำชั้น และเป็นครูสอน ป. 3 เหมาหมดทุกวิชา เล่าว่า เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ถึงแม้ว่าครูน้อย เด็กน้อย แต่ก็มีข้อดีตรงที่ครูสามารถดูแลและสอนเด็กได้ทั่วถึง เห็นพัฒนาการรายบุคคลชัดเจน รู้จุดบกพร่องของเด็กแต่ละคนและสามารถนำมาปรับปรุงได้ คุณครูไม่ได้สอนประจำชั้นเดิมตลอดทำให้จำเนื้อหาที่ตัวเองสอนได้แม่นยำ ครูสามารถยืดหยุ่นกิจกรรมการสอนของตนเองในแต่ละวันได้ แต่ก็ยังมีภาระงานอื่นนอกเหนือจากการสอน ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอน
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ค้นพบจากผลการวิจัยว่า สาเหตุที่นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กทำโจทย์วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ได้คะแนนน้อย หรือเรียนรู้ได้ไม่ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักเรียนมีปัญหาการอ่านภาษาไทย การเชื่อมโยงบูรณาการกันจะทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สนุก และเป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมาย เนื้อหาเดียวสามารถเรียนรู้ได้ทั้งสามวิชา และที่สำคัญคือเป็นการช่วยครู เพราะครูโรงเรียนขนาดเล็กมีครูค่อนข้างน้อย ครูคนหนึ่งสอนทุกวิชา หรือสอนหลายวิชา หลายระดับชั้น
เนื่องด้วยเหตุผลดังกล่าว สสวท. จึงได้ทำการวิจัยศึกษาสภาพการจัดการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กและพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาไทย สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 และพัฒนาขยายผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เอกสารที่ สสวท. พัฒนาขึ้นตามโครงการดังกล่าวเพื่อประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาไทย ประกอบด้วย คู่มือการจัดกิจกรรมสำหรับครูและแบบบันทึกกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาไทยสำหรับนักเรียน ชั้นละ 5 หน่วยการเรียนรู้
“เอกสารประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาไทยของ สสวท. นั้น ถือว่าเป็นคู่มือการสอนที่ดีของครู ถ้าครูนำไปศึกษาทั้งเล่มอย่างละเอียดจะเป็นแนวทางให้ครูนำไปใช้สอนได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งครูต้องศึกษาค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลอื่นเพิ่มเติม หลังจากที่ตนเองได้รับการอบรมจาก สสวท. ได้จัดกิจกรรมและการการทดลอง มากขึ้น บ่อยขึ้น ซึ่งนักเรียนต่างก็สนุกและได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง” คุณครูมะปรางกล่าว
วันนี้เรานักเรียนชั้น ป. 3 ได้ทำกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องแรงพิชิตวัตถุกัน เห็นพวกเขาช่วยกันแต่งประโยคต่าง ๆ เขียนสัญลักษณ์ส่วนของเส้นตรง แถมยังนำกระดาษหนังสือพิมพ์มาทำลูกบอลกลม ๆ เตะได้ด้วย..... น่าสนุกจัง
สาระสำคัญจากการเรียนรู้เรื่องแรงพิชิตวัตถุ ก็คือ เมื่อมีแรงกระทำต่อวัตถุจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ เช่น ทำให้วัตถุที่หยุดนิ่งมีการเคลื่อนที่ หรือทำให้วัตถุที่กำลังเคลื่อนที่มีการเคลื่อนที่เร็วขึ้น ช้าลง หยุดนิ่ง หรือเปลี่ยนทิศการเคลื่อนที่ ในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากเรื่องนี้ คุณครูมะปรางจัดให้นักเรียนได้ทดลอง รู้จักการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ของวัตถุเมื่อถูกแรงกระทำโดยเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน รู้จักแรงยก แรงดึง แรงผลัก ร่วมกันสรุปความรู้เกี่ยวกับแรง และการเคลื่อนที่
จากวิทยาศาสตร์บูรณาการกับคณิตศาสตร์ เมื่อมีแรงกระทำต่อวัตถุจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของเคลื่อนที่ เช่น เคลื่อนที่เร็วขึ้น เคลื่อนที่ช้า หรือหยุดนิ่ง เมื่อมีนักเรียนเดินไปหน้าชั้นและหยุดที่หน้ากระดาน ทำเครื่องหมาย . ไว้เรียกว่าจุด เมื่อลากเส้นตรงระหว่างจุดปลายสองจุด จะทำให้เกิดส่วนของเส้นตรง กิจกรรมนี้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าจุดหมายถึงอะไร รู้จักลักษณะของจุด เส้นตรง ส่วนของเส้นตรง และสามารถเขียนแทนได้ด้วยสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์
ในส่วนของการบูรณาการกับภาษาไทย เด็กๆ ได้รู้ว่าแรงและการเคลื่อนที่จะเกิดกิริยาอาการต่าง ๆ เรียกว่าคำกิริยา ซึ่งเป็นคำที่แสดงอาการหรือการกระทำของประธานในประโยค เช่น เตะ โยน ตบ โหม่ง เดาะลูกบอล ได้รู้จักลักษณะของประโยคบอกเล่า ปฏิเสธ คำถาม ขอร้อง คำสั่ง บอกหน้าที่ของคำกิริยาได้ แต่งประโยคได้ได้แบ่งกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมตามใบงาน และนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน ซึ่งช่วยให้นักเรียนได้ฝึกเขียน พูดและสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ
นอกจากนั้นนักเรียนยังได้นำเอากระดาษหนังสือพิมพ์ที่ใช้แล้ว มาประดิษฐ์เป็นลูกบอลกลมๆ โดยไม่ต้องใช้กาวและเชือกเป็นตัวช่วย ติ๊กต่อก ๆ ... ทำอย่างไรกันนะ แต่ในที่สุดลูกบอลจากกระดาษหนังสือพิมพ์ก็สำเร็จได้จากการร่วมแรงร่วมใจกัน ซึ่งต่างก็ได้ลุ้นและสนุกร่วมกัน
เด็กหญิงชลพินทุ์ ชูเลิศ (เอิร์น) ชั้น ป. 3 กล่าวว่า กิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการ ทำได้ได้เรียนรู้เชื่อมโยงกันหลายวิชา มีหลายกิจกรรมให้ทำ ซึ่งสนุก ชอบกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้ทำกับเพื่อน ๆ เป็นการฝึกทักษะหลายด้านให้กับเรา หนูเรียนกับคุณครูมะปรางแล้วเข้าใจทุกเรื่องเลย และตอบคำถามของคุณครูได้
เด็กชายสมรักษ์ ศรีวิจิตร (ปราน) ชั้น ป. 3 เล่าว่า ผมชอบเรียนคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ถึงเรียนปานกลางแต่ก็ชอบครับ วันนี้ได้แต่งประโบคเพื่อการสื่อสารแบบต่างๆ ได้เรียนรู้เรื่องเส้นตรง ส่วนของเส้นตรง เรื่องแรง คุณครูสอนสนุก ได้ความรู้ ได้ความสนุกสานาไปกับเพื่อนๆ และคุณครู
เด็กหญิงศศิกานต์ น้อยมณีวงษ์ (แอม) และเด็กหญิงณัฐชา ป้องสวย (นัด) ชั้น ป. 3 กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ชอบเรียนวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์ทำให้เรารู้เรื่องทุกอย่างที่เกิดขึ้น ชอบให้คุณครูสอนแบบนี้ มีกิจกรรมให้นักเรียนได้เรียนรู้ มีการทดลอง สนุกมากค่ะ คุณครูสอนสนุก
คุณครูมะปราง วงษ์ยะรา เล่าให้เราฟังว่า โรงเรียนวัดทำนบได้นำกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาไทย มาใช้ 2 ปีแล้ว กิจกรรมรวบรัดดี เข้าใจง่าย นักเรียนสนุก ได้ทดลอง ได้ปฏิบัติจริง แต่อุปกรณ์บางอย่างก็ยังไม่พร้อม เช่น ป. 2 ต้องใช้ชุดวงจรไฟฟ้า ป. 3 ต้องใช้เครื่องชั่งสปริง ซึ่งหาซื้อไม่ได้ ครูจึงหาสื่ออื่นมาใช้ทดแทน การนำกิจกรรมมาใช้จะต้องปรับให้สอดคล้องกับสภาพจริงของชั้นเรียน และนอกจากจะบูรณาการ 3 วิชาแล้ว ได้บูรณาการกับศิลปะด้วย “กิจกรรมการเรียนรู้ที่นำแนวทางของ สสวท. มาใช้ ทำให้ครูสะดวกในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น หากครูประจำชั้นไม่อยู่ ครูท่านอื่นก็สามารถนำกิจกรรม ใบงาน ใบความรู้ที่ สสวท. ออกแบบไว้ให้ไปใช้ได้เลย ใบกิจกรรมเยอะดี เด็กๆ สนใจ นอกจากจะสามารถเลือกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องมาสอนในชั่วโมงเรียนแล้ว ยังสมารรถนำไปสอนในชั่วโมงซ่อมเสริมได้ด้วย”
คุณครูมะปราง ยังกล่าวต่อไปว่า จากผลของความทุ่มเทแรงกายแรงใจในการพัฒนาโรงเรียน พัฒนาตนเอง และพัฒนาเด็ก ๆ ของทั้งผู้บริหารและครูผู้สอนทุกคนในโรงเรียน ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนวัดทำนบดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดูจากผลสอบปลายภาคของนักเรียนแต่ละเทอม ผลสอบโอเน็ตที่ถึงแม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กแต่ก็อยู่อันดับต้นๆ ของเขตพื้นที่การศึกษา
ผอ. สุดารัตน์ ทับสาย ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดทำนบ ประธานกลุ่มผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก สพป. เขต 2 จังหวัดราชบุรี กล่าวเสริมว่า “กิจกรรมการเรียนการสอนที่ สสวท. พัฒนาขึ้นนี้มีประโยชน์มาก เพราะได้พัฒนาครูให้มีแนวการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ยึดนักเรียนเป็นสำคัญ ได้ใช้สื่อในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนักเรียนได้เรียนในบรรยากาศที่หลากหลาย ครูสะดวกเพราะช่วยครูในการคิดกิจกรรมรูปแบบและเป็นแนวในการคิดกิจกรรมเพิ่มเติม นักเรียนได้ความรู้จากกิจกรรมที่จัดให้อย่างหลากหลายและมีความสุขในการเรียน ในโรงเรียนมีการนำกิจกรรมที่ สสวท.ได้จัดทำไว้ดัดแปลงไปใช้เป็นแนวทางในการเขียนแผนเพิ่มเติมในกลุ่มสาระอื่น ๆ และเตรียมการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องให้กับนักเรียนในรุ่นต่อไป”