การริเริ่มการจัดประชุมผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญยิ่งตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน 2015 โดยการประชุมฯ ดังกล่าว จะเป็นพื้นฐานสนับสนุนให้เกิดการแบ่งปันวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดและความร่วมมือระหว่างกัน ตั้งแต่กลุ่มผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ CIO ของอาเซียน ไปจนถึงภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และสถาบันต่างๆ ซึ่งแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน 2015 นั้น เกิดจากความร่วมมือของรัฐสมาชิกแห่งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน จำนวน 10 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดเตรียมทิศทางเชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจน เพื่อใช้ประโยชน์จากศักยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ในการสร้างชุมชนอาเซียน
“ICT จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการบูรณาการทางสังคมและเศรษฐกิจของอาเซียน รวมทั้งช่วยผลักดันให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) บรรลุผลได้ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT รุ่นใหม่และทุนมนุษย์ที่มีทักษะในการส่งเสริมอุตสาหกรรม เชิงนวัตกรรมและความสามารถด้านการแข่งขัน รวมทั้งการสร้างและใช้สภาพแวดล้อมเชิงควบคุมและนโยบายในการทำให้ ICT สามารถเปลี่ยนอาเซียนให้กลายเป็นตลาดเดียว ตลอดจนช่วยสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและภาคประชาชนให้ดียิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่การบูรณาการร่วมกันระหว่างอาเซียนอีกด้วย ซึ่งการประชุม 1st ASEAN CIO Forum 2012 ในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างความร่วมมือที่ยั่งยืน และนำไปสู่ประชาคมธุรกิจผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันในการเป็นประชาคมอาเซียนที่มีความสามารถด้านการแข่งขัน”
ด้านนายไชยเจริญ อติแพทย์ นายกสมาคม CIO 16 เปิดเผยว่า การจัดประชุม ASEAN CIO Forum ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทุกภาคส่วน ได้ตระหนัก เตรียมการ และดำเนินการ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการที่อาเซียนจะกลายเป็นประชาคมเดียวกัน ในปี 2558 โดยการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ตัวบุคคล กฎระเบียบภายในองค์กร ไปจนถึงระดับประเทศ และระดับภูมิภาค ซึ่งภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจต่างๆ จำนวนมากได้เริ่มดำเนินการวางแผนงาน กลยุทธ์ วางโมเดลธุรกิจแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และมีมิติใหม่ๆ อาทิ แนวทางที่มีผลในเชิงปฏิบัติตามกฎหมายต่างๆ ไปจนถึงแนวปฏิบัติเชิงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เป็นต้น
“ในการประชุมครั้งนี้ผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมอง ถ่ายทอดความรู้ และรับทราบนโยบายแผนงาน ICT ที่สำคัญๆ จากแต่ละประเทศ รวมทั้งรับทราบปัญหาอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันหรือระหว่างกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ระบบ ICT ของอาเซียนในอนาคต โดยสมาคม CIO16 ได้นำเสนอรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP) เพื่อเป็นอีกกลไกหนึ่งในการเตรียมความพร้อมนำมิติใหม่เหล่านี้ไปดำเนินการ ซึ่ง ICT นั้นจะเป็นกลไกสำคัญในการรวบรวมและเสริมขีดความสามารถให้แก่บุคลากร ระบบ กระบวนการ และการใช้ประโยชน์จากการลงทุนที่มีเทคโนโลยีให้คุ้มค่าที่สุด เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ซึ่งอาเซียนสามารถจะนำบทเรียนหลายๆ รูปแบบที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเปิด อียู (EU) มาเรียนรู้ปรับปรุงให้ดีกว่า เร็วกว่า ถูกกว่า และปลอดภัยกว่าได้”
“ในงานนี้จะมีการเปิดประชุมโต๊ะกลม โดยเชิญ CIO จากประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมหารือ เพื่อสร้างสรรค์การทำงานแบ่งความรับผิดชอบช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดแนวทางการผลักดันการดำเนินงานด้าน ICT ร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน สำหรับรูปแบบของการประชุมฯ นั้น จะเป็นการอภิปรายแบบเปิดและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยผู้มีเกียรติ ผู้กำหนดทิศทางนโยบายจากแต่ละชาติอาเซียนที่สำคัญๆ ผู้นำ ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ประกอบการเทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในอุตสาหกรรม ICT จากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนมาแบ่งปันประสบการณ์ ซึ่งหัวข้อของการอภิปรายทั้งหมดจะเกี่ยวข้องกับ ICT เพื่อเตรียมความพร้อมกับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ที่ถือเป็นการรวมตัวกันของชาติต่างๆ ที่มีทั้งความหลากหลายและความคล้ายคลึงกัน ดังนั้น การประชุมฯ ครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการใช้และรวบรวมทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับ ICT เพื่อสร้างและผสานรวมความแตกต่างในกลุ่มอาเซียนเข้าไว้ด้วยกัน”
สำหรับหัวข้อในการประชุมฯ ครั้งนี้ นายกำพล ศรธนะรัตน์ เลขาธิการสมาคม CIO 16 กล่าวว่า จะครอบคลุมเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ในภาพรวม ICT ของอาเซียน อาทิ ระบบการประมวลผลแบบคลาวด์ และการรักษาความปลอดภัยสำหรับระบบคลาวด์ การรวมระบบเครือข่าย ระบบมือถือ การสื่อสาร และผู้ให้บริการด้านเนื้อหา ระบบการรักษาความปลอดภัยสำหรับโลกไซเบอร์ การตรวจสอบพิสูจน์ทางไซเบอร์ และการสร้างมาตรฐานด้านธรรมาภิบาล ความเสี่ยง และการปฏิบัติตามระเบียบ (Governance, Risk and Compliance : GRC) สำหรับอาเซียน การเรียนรู้เพื่อปรับปรุงการใช้ ICT ช่วยจัดการวิกฤตการณ์จากสึนามิ น้ำท่วมใหญ่ในไทย และ หรือการใช้ไอซีที เพื่อความสมานฉันท์ของคนต่างเชื้อชาติภายในประเทศ เป็นต้น
“หัวข้อสำคัญต่างๆ เหล่านี้จะมีการลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับ “การสนับสนุน” ที่เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของ “ความร่วมมือ” เพื่อนำไปสู่การสร้างชุมชนที่ดีด้วย ICT และผู้เข้าร่วมประชุมฯ ยังจะได้พบกับนิทรรศการที่จัดแสดงเทคโนโลยีรวมทั้งโซลูชั่นใหม่ล่าสุด เพื่อใช้จัดการกับความท้าทายทางธุรกิจ ภัยคุกคาม และบริการต่างๆ ตามต้องการ (on demand) พร้อมกันนี้ยังมีการอภิปรายแบบกลุ่มจากมุมมองของผู้รู้จริงในแต่ละประเทศ ที่เปิดกว้างสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมฯ ภายใต้จุดมุ่งหมายเพื่อการสร้างความร่วมมือระหว่างกันในอาเซียน และเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มความเชี่ยวชาญ ความปราดเปรื่อง และความคล่องแคล่วของซีไอโอหรือสิ่งที่ CIO จะต้องเป็นให้ได้ภายในปี 2558” นายกำพล กล่าว
นอกจากนั้นแล้วยังมีผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านไอทีของไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้มาอภิปรายในหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ พระราชกรณียกิจด้าน ICT เพื่อคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทย ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วิสัยทัศน์ของ CIO เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นประชาคมอาเซียน (Engaging the vision of CIOs to prepare ASEAN for a greater future as one community) และ Leader’s Note : Towards a Collaborative Government เป็นต้น