นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวถึงภารกิจของกรมป่าไม้เน้นเรื่องการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้พะยูงเป็นภารกิจที่เร่งด่วน เนื่องจากว่าในระยะสองสามปีที่ผ่านมา ไม้พะยูงมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงในตลาด จึงทำให้เกิดความต้องการมาก จากสถิติที่ผ่านมาในปี 2553 — 2555 เกิดการลักลอบตัดไม้พะยูงในเชิงคดีที่เราจับกุมดำเนินคดีนั้นมีมากขึ้นตามลำดับ ปี 2553 ประมาณ 200 คดี ปี 2554 เพิ่มเป็น 600 คดี และในปี 2554 ถึงปี 2555 รวม 1,200 กว่าคดี แสดงว่าสังคมเริ่มให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้พะยูงมากขึ้น ซึ่งอดีตที่ผ่านมาอาจมีการลักลอบตัดไม้พะยูงเหมือนกันแต่มีการปราบปรามน้อยกว่าในปัจจุบัน สาเหตุสืบเนื่องมาจากสังคมให้ความสนใจ เรื่องการลักลอบนำไม้พะยูงออกไปในลักษณะของการหลีกเลี่ยงภาษี เช่น นำไม้ผ่านแดนบ้าง ที่จับเป็นตู้คอนเทนเนอร์ได้ที่ท่าเรือทีละ 500-600 ตู้ และไม้จำนวนมหาศาล นั่นเป็นการจุดประเด็นที่ทำให้สังคมเริ่มเห็นความสำคัญว่าไม้พะยูงกำลังถูกลักลอบตัดออกนอกพื้นที่
โดยกฎหมายแล้ว มติคณะรัฐมนตรีออกมาชัดเจนว่าห้ามนำเข้าและส่งออกไม้พะยูง ฉะนั้นไม้พะยูงที่ถูกนำเข้าและส่งออกประเทศไทยถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด วิธีการง่ายๆ คือตัดไม้ในประเทศส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน โดยใส่มาในตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อผ่านแดน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่กรมป่าไม้กำลังหาแนวทางและวิธีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เช่น ปกติตู้คอนเทนเนอร์เข้ามา เราไม่มีสิทธิเปิดตู้ดูได้ ดังนั้นศุลกากรซึ่งควบคุมต้นทาง ต้องเป็นผู้ขออนุญาตเปิดตู้เพื่อตรวจสอบก่อนในจุดนั้นให้เรียบร้อยถึงจะทำการหุ้มพลาสติกใหม่ รวมถึงการออกหนังสือรับรอง การขนส่งระหว่างทางเราก็มีด่านตรวจ ถ้ามีการหุ้มพลาสติกมาแล้วไม่มีอะไรผิดปกติก็ผ่าน ถ้ามีร่องรอยผิดปกติเราก็สามารถตรวจยึดและจับกุมได้ สุดท้ายปลายทางที่ท่าเรือก่อนจะส่งออก จะต้องมีการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง
กรมป่าไม้จึงมีแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงในการตรวจจับกุม ส่งผลให้ผลการจับกุมมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็มีคดีรายใหญ่มากขึ้น ซึ่งหลายคดีเป็นคดีที่มีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง แหล่งข้อมูลในทางลับเป็นผู้ใหญ่ทั้งนั้น เพราะการที่จะสามารถเปิดด่านได้นั้นไม่ใช่ด่านธรรมดาจะต้องผ่านทั้ง ด่านตำรวจ ด่านป่าไม้ สารพัดด่านที่ทำการขนส่ง มา และการขนส่งก็มีหลายรูปแบบ เช่น เป็นไม้เล็กไม้น้อยซุกซ่อนมากับรถสินค้า ลักษณะเป็นรถตู้ดัดแปลงเอาเบาะที่นั่งออกเพื่อเอาไม้ใส่มาล้วนๆ เป็นต้น ที่น่าเป็นห่วง คือ ภาคใต้ที่มีการลักลอบขนส่งไม้ไปประเทศมาเลเชีย สาเหตุที่หลุดออกไปได้เพราะสำแดงเป็นไม้ยางพารา พอเปิดดูตู้ปรากฏว่าไม้ยางพาราอยู่ด้านนอก ไม้พะยูงอยู่ด้านใน นั่นคือวิธีการของผู้ลักลอบ ผู้ค้า ที่แสวงหาวิธีต่างๆนานาเพื่อหลบเลี่ยง กรมป่าไม้จึงทำการติดตามด้านการปราบปราม ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของเส้นทาง เรื่องของพื้นที่เชื่อว่ากรมอุทยานฯ ที่เป็นผู้ดูแล โดยไม้พะยูงส่วนใหญ่ อยู่ในการดูแลของกรมอุทยานฯทั้งนั้น ในส่วนป่าสงวนทั่วไปหายเกือบหมดแล้ว จะเหลือแต่ในป่าชุมชน ซึ่งชุมชนเองก็มีความเข้มแข็ง มีหลายชุมชนในจังหวัดศรีสะเกษที่ล้อมจับนายทุนที่ไปตัดไม้ในป่าชุมชน แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปดำเนินคดี ถือเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชุมชนอื่นๆ ส่วนในเขตอุทยานฯ เจ้าหน้าที่อุทยานก็ดูแลเต็มที่ อย่างที่กล่าวมา อุทยานก็มีทางหลายทาง เราก็ช่วยกัน โดยต้นทางเราก็เข้มงวด ระหว่างทางเราก็เต็มที่ ปลายทางเราก็เชื่อว่าอนาคตการตัดไม้พะยูงจะดีขึ้น นายสุวิทย์กล่าว
กรมป่าไม้ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ พระราชดำรัส ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เรื่องไม้พะยูงว่า ถ้ามีค่าจริง คนต้องการจริง ทำไมเราไม่ส่งเสริมให้คนเพาะปลูกเพื่อทำการค้า ทำไมไม่ส่งเสริมไปเลย
กรมป่าไม้น้อมนำแนวพระราชดำริ พระราชดำรัสนี้รับใส่เกล้ามาดำเนินการ ในปีนี้เรามีแผนงบประมาณให้กรมป่าไม้เพาะกล้าไม้พะยูง จำนวน 10 ล้านกล้า โดยเน้นที่จังหวัดอุบลราชธานี 1 ล้านกล้า จังหวัดในภาคอีสานอีกทีละสามแสน ห้าแสน กระจายไปยังพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อให้คนไปปลูกในที่กรรมสิทธิ์ของตัวเอง ถ้าคนบางคนเค้าคิดว่าปลูกแล้วคุ้ม 10-20 ปี เขาก็ไปปลูก แต่บางคนอาจปลูกเพื่อความสวยงาม เพื่อความเป็นมงคลของตัวเองว่าจะช่วยพยุงฐานะ ส่งเสริมให้มั่งคั่งร่ำรวย มีหน้ามีตา มีเกียรติ ฯลฯ ต่อไปถ้าปลูกเองก็ไม่ต้องเอาไม้ในป่าแล้ว เอาไม้ในที่กรรมสิทธิ์ของตัวเองมาใช้
เหนือสิ่งอื่นใดกรมป่าไม้ได้น้อมนำพระราชดำรัส พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานเรื่องการปลูกป่า พระองค์ท่านบอกชัดเจว่า ต้องทำป่าซับน้ำ ป่าที่เราปลูกสมัยก่อน ไม้มันโตช้า โตไม่ทัน สู้วัชพืชไม่ไหว จึงมีแนวพระราชดำริให้ปลูกไม้โตเร็วควบคู่กับไม้โตช้า ซึ่งเราก็น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการ ในอดีตที่ผ่านมาเราคิดถึงแต่ไม้เศรษฐกิจ ไม้สัก ไม้มะค่า ไม้เต็ง ไม้รัง ฯลฯ ไม้พวกนี้กว่าจะโตได้ยากเย็นเหลือเกิน เจอไฟก็ไหม้ เจอหญ้าปกคลุมก็ตาย พระองค์ท่านทรงพระราชทานแนวคิดเกี่ยวกับไม้ที่โตเร็ว เป็นพระราชดำริซึ่งทรงพระมหากรุณาธิคุณต่อกรมป่าไม้ เพราะหลายครั้งที่เราไปต่อสู้เพื่อปลูกไม้ โตเร็ว เขาบอกว่าปลูกไม้ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อมองถึงด้านสิ่งแวดล้อมแล้วมันคุ้มค่าเพราะหญ้าแฝกสร้างความชุ่มชื้น สร้างความอุดมสมบูรณ์ เป็นตัวที่จะปกป้องให้ไม้โตช้าขึ้นมาได้เร็วขึ้น สามารถป้องกันภัย ป้องกันไฟป่า เปรียบเสมือนพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงตัวใหญ่สามารถปกป้องน้อง ๆ ได้ดี ทำให้ไม้โตช้าโตได้เร็วขึ้น หน้าไฟป่าเจอไม้โตเร็วปะทะไว้ มันก็สามารถอยู่ได้ แนวพระราชดำริชัดเจน เราก็น้อมนำมาทำ มอบเป็นนโยบายตั้งแต่นายกรัฐมนตรีสั่งการมาถึงรัฐมนตรีถึงอธิบดี ต่อไปนี้การปลูกป่าของกรมป่าไม้จะต้องปลูกไม้โตเร็วอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง หรือ 70% ส่วนไม้โตช้า 30 % ถ้าเรามองแต่ในแง่ของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมไปไม่รอด ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมถึงจะอยู่ได้ ดิน น้ำ อากาศ ที่เหมาะสม ไม่มีสิ่งรบกวนถึงจะอยู่ได้ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว