ว่ากันว่าพื้นที่แห่งนี้ มีต้นแปกหรือต้นสนสองใบอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีผีเสื้อแสนสวยบินอวดโฉมนับแสนตัวบินว่อนไปทั่วบริเวณ ชาวบ้านนำทีมงาน อพท. ไปพิสูจน์ดงผีเสื้อ พาหนะที่พาพวกเราเที่ยวภูแปก คือ รถอีแต๊ก หนทางในเขตป่ามีความขรุขระมากและแคบ เจ้าอีแต๊กนี้เป็นรถที่ใช้ในการเกษตรบนพื้นที่สูงชัน ที่ไม่สามารถนำรถยนต์ประเภทอื่นขับขึ้นไปได้ คุณสมบัติของมันใช้งานได้สารพัด ทั้งแต่ใช้ไถ บรรทุกสิ่งของ และใช้ขนส่ง
เส้นทางแรกที่ขึ้นไปสำรวจไม่พบผีเสื้อ เพราะยังไม่ใช่ฤดูกาล ชาวบ้านจึงพาทีมงาน อพท. ไปอีกเส้นทางคือ ขึ้นไปบนภูแปก ซึ่งเกือบจะถึงยอดภู แต่คราวนี้ไม่ได้นั่งอีแต๊ก เพราะเป็นเส้นทางที่รถยนต์ทั่วไปขับขึ้นไปได้ เมื่อรถจอดชาวบ้านและทีมงานเดินลงไปสู่หุบเขาเบื้องล่าง เส้นทางค่อนข้างชันและอันตราย แต่ร่มรื่น เย็นสบาย รวมทั้งต้องระวังช้างป่า ๔ เชือกที่เดินหากินอยู่รอบบริเวณภูแปกแห่งนี้
พวกเราทั้งหมดไต่ลงเขากว่า ๒๐ นาที ก็ถึงบริเวณที่ผีเสื้ออาศัยอยู่ แน่นอนว่าพื้นที่จุดนี้ จะต้องมีความชุ่มชื้น มีต้นกล้วยป่า ต้นข่าป่า กระจัดกระจาย และมีก้อนหินขนาดใหญ่กระจายอยู่หลายจุด เมื่อพวกเราไปถึงเหล่าผีเสื้อน้อยต่างตกใจบินถลาออกจากใบไม้และกิ่งไม้ เหมือนกับผึ้งแตกรัง เสียงร้องอื้อฮือ...ของพวกเราผสมผสานกัน ทุกคนต่างกวาดสายตากันไปมารอบ ๆ บริเวณนั้น เพราะเจ้าผีเสื้อบินอวดโฉมอยู่รอบ ๆ ชาวบ้านใช้วิธีเดินไปตามต้นไม้ที่ผีเสื้อชอบอยู่เพื่อให้มันบินโชว์ให้ดูหลาย ๆ ครั้ง ทีมงาน อพท. ต่างบันทึกภาพนิ่งและวีดีโอมือเป็นระวิง หลายคนก็ช่วยกันประมาณกันว่าผีเสื้อที่บินอยู่มีจำนวนสักเท่าไหร่กันนะ...บ้างก็ว่าหลายหมื่นตัว บางคนก็บอกเกินแสนตัว เพราะยังมีเจ้าตัวเล็กที่เพิ่งออกจากไข่กำลังลืมตาดูโลก และที่ยังไม่ออกจากไข่อีกเพียบ และถ้ารวมผีเสื้อในเส้นทางแรกคงมีผีเสื้อเป็นล้าน ๆ ตัวอาศัยอยู่ภูแปก น่าเสียดายที่พวกเรายังไม่รู้ว่าเป็นผีเสื้อชนิดไหนบ้างนะ
เราเดินทางไปยังลานต้นสนซึ่งขึ้นเรียงรายกระจายเป็นวงกว้างทั่วผืนป่าภูแปก ส่วนมากเป็นสนขนาด ๑ คนโอบ แต่ละต้นสูงกว่า ๒๐ เมตร ชาวบ้านบางคนแอบเอาไม้แปกไปทำเชื้อเพลิง ด้วยการเจาะลำต้นแล้วเอาไปเผาไฟให้เกิดน้ำมัน เมื่อเนื้อไม้อุ้มน้ำมันเต็มที่แล้ว ชาวบ้านจะใช้มีดค่อยแกะเอาเนื้อไม้ทีละน้อย เมื่อแกะเสร็จก็เผาอีก เป็นอย่างนี้จนกว่าต้นสนจะตายหรือหักโค่น เมื่อต้นหักโค่นก็จะมาเลื่อยไม้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป การใช้วิธีการแบบนี้เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ต้นแปกล้มตายจำนวนมาก และอาจจะมากกว่าการตัดต้นสนโดยตรง จากปัญหาดังกล่าว ทำให้พระสงฆ์รูปหนึ่งที่ตั้งที่พักสงฆ์ ได้เทศนาสั่งสอนให้ชาวบ้านเลิกตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งเอาผ้าเหลืองไปมัดต้นแปกเอาไว้ คล้ายกับการบวชป่า (บวชต้นแปก) เพื่อไม่ให้ชาวบ้านตัดหรือทำเชื้อเพลิง พร้อมกับทำแนวกันไฟป่าไม่ให้ลุกลามเข้ามาในเขตอนุรักษ์ ผลที่เกิดขึ้นคือ มีต้นแปกขนาดเล็กเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
สำหรับดอกกระเจียวที่ขึ้นอยู่ใต้ต้นแปกนั้น เมื่อปี ๒๕๕๔ อพท. ได้สนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกดอกกระเจียวใต้ต้นแปกประมาณ ๒ ไร่ ขณะนี้ดอกกระเจียวที่ปลูกกำลังออกดอกกระจายในพื้นที่ มีทั้งดอกสีม่วง สีชมพู และสีขาว และคาดว่าในปีหน้าดอกกระเจียวจะบานเต็มทุ่งมากกว่านี้ ชาวบ้านที่ร่วมแรงร่วมใจปลูกดอกกระเจียว แสดงความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ อพท.ว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่สามารถทำให้ภูแปกมีดอกกระเจียวขึ้นกระจายไปทั่วภูแปก และคาดว่าจะเป็นจุดสนใจที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องเดินทางไปดูดอกกระเจียวที่จังหวัดชัยภูมิ
ดอกกระเจียวมีข้อดีอย่างหนึ่งคือ ปลูกครั้งเดียวไม่ต้องดูแลอะไรมากมาย แม้จะถูกไฟไหม้มันก็ยังไม่ตาย เพราะมีหัวอยู่ใต้ดิน รวมทั้งส่วนที่เป็นดอกสามารถนำมาประกอบอาหารท้องถิ่นได้ แต่ต้องระวังศัตรูของดอกกระเจียวคือ วัวและกระบือที่ชอบกินใบและดอกกระเจียว
ติดต่อ:
ชมพูนุท ธาราสิทธิโชค เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร อพท.