มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 8 ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-8 พฤษภาคม 2555 โดยในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานพิธีเปิดงาน ในวันที่ 4 พฤษภาคม เวลา 09.00 น. ณ ห้องเรียน 600 (SCL 216) อาคารปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี
ทั้งนี้ การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทย เพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมการแข่งขันในเวทีระดับโลก โดยขั้นตอนการคัดเลือกมีทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ
สำหรับการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติที่ มจธ. เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ผศ.ดร.วรนุช เกิดสินธ์ชัย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 8 เปิดเผยว่า มจธ.ใช้เวลาเตรียมความพร้อมมานานกว่า 1 ปีแล้ว โดยผู้เข้าแข่งขันทุกคนต้องผ่านการเข้าค่ายของศูนย์ สอวน.ในแต่ละภูมิภาค ก่อนจะเข้าสู่เวทีการการแข่งขันระดับประเทศ โดยมีนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้มีจำนวน 101 คน ซึ่งมาจาก 14 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยแต่ละศูนย์จะมีอาจารย์ผู้ควบคุมทีมซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและครูจากโรงเรียนต่างๆ ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้แทนศูนย์ 2 คน และครูผู้สังเกตการณ์ 1 คน ซึ่งความยากง่ายของข้อสอบนั้น ก่อนสอบ 1 วันอาจารย์ผู้ควบคุมทีมของแต่ละศูนย์จะมีโอกาสอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับข้อสอบทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติในแต่ละข้อ เพื่อปรับแก้ไขให้เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้เข้าแข่งขัน
“การออกข้อสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมาจากคณะกรรมการกลางคือมหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งก่อนสอบครูผู้ควบคุมทีมและคณะกรรมการจะมีการ Defense ถึงความเหมาะสมของข้อสอบ ไม่ให้ยากหรือง่ายเกินไป ซึ่งในส่วนนี้ไม่ต้องกังวลว่าอาจารย์แต่ละศูนย์จะนำข้อสอบไปบอกนักเรียน เพราะหลังจากอาจารย์เห็นข้อสอบแล้ว จะมีการแยกไม่ให้อาจารย์และนักเรียนเจอกันหรือส่งสัญญาณใดๆ จนกระทั่งเสร็จสิ้นกระบวนการสอบ ส่วนวันสอบทฤษฎีและปฏิบัติในระยะเวลา 5 ชั่วโมง นักเรียนก็จะไปไหนไม่ได้ เช่นกัน
นอกจากเข้าห้องน้ำเราจะมีอาหารน้ำดื่มบริการให้ นักเรียนสามารถทำข้อสอบไปด้วยและรับประทานอาหารในห้องสอบได้ด้วย ส่วนกระดาษคำตอบของนักเรียนจะถูกก๊อบปี้ไว้ 2 ชุด ตัวจริงจะเก็บไว้ในตู้เซฟ ส่วนชุดที่ก๊อบปี้จะแจกคณะกรรมการกลางเพื่อตรวจข้อสอบ และอีกหนึ่งชุดจะให้ผู้ควบคุมทีม ซึ่งในกระบวนการตรวจข้อสอบในส่วนนี้จะมีการ Defense อีกครั้งระหว่างคณะกรรมการกับผู้คุมทีม เมื่อได้คะแนนมาแล้วคณะกรรมการจะนำคะแนนมาแปลงเป็นเกรด โดยอาจารย์ผู้ควบคุมทีมจะไม่สามารถรู้เลยว่าลูกศิษย์ของตนจะได้คะแนนเท่าไร ต้องไปลุ้นกับนักเรียนในวันประกาศผลว่านักเรียนของตนจะได้คะแนนเท่าไร”
ด้าน รศ.พรรณี รัตนชัยสิทธิ์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ยอมรับว่า ในด้านวิชาการเด็กไทยมีจุดอ่อนโดยเฉพาะข้อสอบในภาคปฏิบัติ แต่ข้อสอบที่เป็นภาคทฤษฎีเด็กจะสามารถทำคะแนนได้ดี ซึ่งในจุดนี้ตนเห็นว่าครูผู้สอนต้องกวดขันแก้ไขข้อด้อยดังกล่าวให้ได้ จะทำให้เด็กได้เปรียบผู้แข่งขันมากขึ้น
“สิ่งที่เป็นจุดแข็งของนักเรียนไทยคือสามารถดูดซับความรู้ในระยะสั้นๆ ได้ดี ถือเป็นข้อดีในตอนที่มีการเข้าค่ายเก็บตัวเตรียมความพร้อมก่อนจะไปแข่งในระดับโลก ซึ่งครูผู้สอนต้องเพิ่มความเข้มข้นในการเรียนการสอน ขณะที่ในส่วนของข้อสอบที่อดีตอาจจะเป็นภาษาไทย แต่เนื่องจากการที่เราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริว่าควรเป็นภาษาอังกฤษในบางวิชา เช่น ชีวเคมี อินทรีย์เคมี ที่ควรเป็นข้อสอบภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาอื่นยังเป็นภาษาไทยคณะกรรมการจะค่อยๆ ปรับ ซึ่งในปีต่อไปจะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เพื่อรองรับกับโอกาสใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น”
อนึ่งการแข่งขันในครั้งนี้จะมีการสอบภาคทฤษฎีในวันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 2555 ซึ่งใช้เวลาในการสอบแข่งขัน 5 ชั่วโมง และวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม 2555 จะสอบภาคปฏิบัติ ใช้เวลาในการสอบแข่งขัน 5 ชั่วโมงเช่นกัน และมีการประกาศผลในวันอังคารที่ 8 พฤษภาคม 2555 ซึ่งผู้ที่ทำคะแนนได้ 50 ลำดับแรก จะถูกส่งเข้าค่ายอบรมของ สสวท. เพื่อเตรียมคัดเลือกเป็นตัวแทนไปแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ.