นายสมพร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันฟาร์มสุกรของเกษตรกรที่ซีพีเอฟโดยกลุ่มธุรกิจสุกรเข้าไปส่งเสริมอาชีพมีทั้งสิ้น 26 แห่ง เป็นฟาร์มสุกรขนาดกลางที่เลี้ยงแม่สุกรตั้งแต่ 1,200 — 4,800 ตัว ในระบบโรงเรือนแบบปิดปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ หรือระบบอีแวป (Evaporative Cooling System : EVAP) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ซีพีเอฟคิดค้นและนำมาส่งเสริมให้เกษตรกรใช้จนเป็นที่แพร่หลายมากว่า 10 ปี ด้านการใช้ระบบไบโอแก๊สซึ่งเป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนและได้ผลพลอยได้เป็นกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในฟาร์มนั้น ปัจจุบันมีฟาร์มเกษตรกรจำนวน 60% ที่นำระบบนี้ไปใช้ ส่วนอีก 40% เป็นฟาร์มที่ก่อตั้งมานานมากกว่า 15 ปี ซึ่งระบบจัดการของเสียในอดีตจะมีบ่อบำบัดขนาดใหญ่ที่ไม่เหมาะกับการทำระบบไบโอแก๊ส โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงระบบมาใช้ระบบไบโอแก๊สทั้งหมดคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า
“ฟาร์มเลี้ยงสุกรของซีพีเอฟมุ่งเน้นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำเอามาตรฐานสากลมาใช้ อาทิ ISO14001 (ด้านสิ่งแวดล้อม) รวมทั้งปรับภาพลักษณ์ฟาร์มสุกรสู่กรีนฟาร์มจนสำเร็จทุกฟาร์ม ขณะเดียวกันก็ได้ผลักดันให้เกษตรกรที่ซีพีเอฟส่งเสริมได้มีส่วนร่วมเช่นเดียวกัน โดยทุกฟาร์มได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสุกร จากกรมปศุสัตว์ โดยดำเนินการตามข้อกำหนดวิธีปฏิบัติด้านการจัดการฟาร์ม การจัดการด้านสุขภาพสัตว์ และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ได้สุกรที่ถูกสุขลักษณะและเหมาะสมต่อผู้บริโภค แม้ว่าบางฟาร์มจะยังไม่ได้ใช้ระบบไบโอแก๊สก็ตาม แต่ก็มีการจัดการของเสียอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน ทั้งนี้ ในการสร้างไบโอแก๊สต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงประมาณ 2 แสนบาท บริษัทจึงสนับสนุนให้เกษตรใช้ระบบดังกล่าว ด้วยการให้ผลตอบแทนเป็นค่าไบโอแก๊สเพิ่มเติม 20-30 บาทต่อตัวสุกรขุน ทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจและทุกฟาร์มพร้อมที่จะร่วมลดปัญหาสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน” นายสมพรกล่าว
ด้าน นายบุญเลิศ มาศผล เกษตรกรในโครงการส่งเสริมฯ พื้นที่จังหวัดระยอง หนึ่งในฟาร์มนำร่องโครงการกรีนฟาร์ม เปิดเผยว่า จากความต้องการให้ฟาร์มสุกรของตนเองสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน ไม่ส่งผลกระทบกับชาวบ้านใกล้เคียง จึงตัดสินใจนำเอาระบบของบริษัทมาประยุกต์ใช้ โดยใช้จุลินทรีย์ธรรมชาติมาช่วยบำบัดในระบบฟอกอากาศท้ายโรงเรือน ทำให้การลงทุนไม่สูง และพบว่าได้ผลดีมาก จึงขอเชิญชวนให้เพื่อเกษตรกรลองนำระบบมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับฟาร์มของตนเอง เพื่อให้ภาคปศุสัตว์ไทยมีส่วนในการช่วยลดปัญหาโลกร้อน