นายณฤกษ์ กล่าวอีกว่า ซีพีเอฟมีนโยบายที่ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานด้านการบริหารจัดการองค์กรมาอย่างต่อเนื่อง โดยนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติมาปรับใช้ในองค์กร ซึ่งเป็นที่มาของรางวัล TQC ที่ช่วยสะท้อนภาพลักษณ์ผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารให้ชัดเจนขึ้นในทุกมิติ ทั้งการนำองค์กร การวางแผนเชิงกลยุทธ์ การมุ่งเน้นลูกค้า การวัดวิเคราะห์จัดการความรู้ บุคลากร การจัดการกระบวนการ และผลลัพธ์ทางธุรกิจ ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้ารวมทั้งคู่ค้าที่ทำธุรกิจร่วมกัน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกิด “ความยั่งยืน” ของการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการตอบสนองต่อความจำเป็นของธุรกิจในปัจจุบัน การเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตในทุกด้าน รวมทั้งการคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม รางวัล TQC จึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมในการพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่การได้รับรางวัล TQA ต่อไปในอนาคต ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถของกรุงเทพโปรดิ๊วส ในเวทีการแข่งขันในระดับโลก และเป็นแนวทางที่ทำให้ซีพีเอฟสามารถบรรลุวิสัยทัศน์การเป็นครัวของโลกได้
“การได้มาซึ่งรางวัลติดต่อกันถึง 3 ปีซ้อน นับว่าเป็นงานหนักสำหรับเรา เนื่องจากต้องใช้เวลาเตรียมตัวล่วงหน้าถึง 3 ปี สำหรับรวบรวมข้อมูลและแผนปฏิบัติงานให้ตรงตามเกณฑ์ แต่ผลที่ได้ก็คุ้มค่า เพราะเมื่อมีการปรับปรุงการบริหารจัดการ ก็ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง ขณะที่ผลประกอบการกลับดีขึ้น สำหรับหัวใจของความสำเร็จคือ การที่ผู้นำมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน จากนั้นจึงถ่ายทอดเป้าหมายจากระดับนโยบายไปยังพนักงานขององค์กรให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ มีการทำงานเป็นทีม และร่วมขับเคลื่อนองค์กรไปพร้อมกัน ทั้งนี้ การคว้ารางวัลติดต่อกันทำให้เรากลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับหน่วยงานต่างๆ ในเครือ ขณะเดียวกัน ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับกลุ่มต่างๆ มากยิ่งขึ้น” นายณฤกษ์ กล่าวและว่า
เกณฑ์ของ TQA ทำให้สามารถคาดการณ์จุดบอดของธุรกิจได้ไกล 5-10 ปี ขณะเดียวกันก็สอนให้ไม่ตั้งอยู่บนความประมาท จึงต้องคิดถึงจุดแข็งใหม่ๆ และพัฒนาตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการจะก้าวขึ้นสู่รางวัล TQA จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ทีมงานก็พร้อมที่จะเปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นความมุ่งมั่นและท้าทาย พร้อมปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถคว้ารางวัลคุณภาพระดับโลกนี้มาครองให้ได้