คปก.สางปัญหาแรงงาน จุดติดอนุสัญญา87/98 ILO ชี้นโยบายขึ้นค่าแรงทดแทนสิทธิต่อรองไม่ได้

ศุกร์ ๒๗ เมษายน ๒๐๑๒ ๑๖:๔๐
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ โซลิดาริตี้เซ็นเตอร์ (SC) องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท(FES) จัดการเสวนา “มาตรการลดช่องว่างทางสังคมในกลุ่มแรงงาน : อนุสัญญา 87/98 และกลไกแรงงานสัมพันธ์” ที่โรงแรมอิสติน มักกะสัน

นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องบทบาทกฎหมายกับการลดช่องว่างทางสังคมในกลุ่มแรงงานว่า ช่องว่างทางสังคมที่สำคัญคือ ปัญหาที่ดินและทรัพย์สินกระจุกตัวอยู่กับคนจำนวนน้อย จึงไม่สามารถแก้ปัญหาช่องว่างทางสังคมได้ ดังนั้นรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงคือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนนิยม การให้ความสำคัญกับตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การส่งออกและรายได้ของประเทศ รวมถึงการยึดหลักแรงงานราคาถูก เมื่อกฎหมายร่างขึ้นโดยใครก็มักจะรับใช้คนกลุ่มนั้น ขณะเดียวกันยังพบว่ายังมีกฎหมายหลายฉบับที่ยังมีปัญหาทั้งกฎหมายประกันสังคม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานบ้าน รวมถึงอนุสัญญาต่างๆที่เกี่ยวข้อง ขณะที่รัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการแก้ไขก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะนำไปสู่ผลในทางบวกหรือลบ และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการลดช่องว่างทางสังคมได้หรือไม่ เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

นางสุนี กล่าวว่า จะต้องสร้างองค์ความรู้ที่ชัดเจน และมีองค์ความรู้ที่สร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับนโยบายนักการเมือง ให้สังคมยอมรับในความชอบธรรม อย่าปล่อยให้คนจำนวนหนึ่งใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการริดรอนสิทธิของประชาชน ภาคประชาชนจึงต้องมีความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงานอย่างจริงจัง โดยเรื่องเร่งด่วนที่คปก.จะดำเนินการคือ การเร่งสร้างฐานสวัสดิการสังคมที่มีกฎหมายเอื้ออำนวย และส่งเสริมประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการปฏิรูปกฎหมาย

นายทิม เดอ เมเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานแรงงาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) กล่าวอภิปราย “อนุสัญญา 87/98 และกลไกด้านแรงงานสัมพันธ์”ว่า ความไม่เท่าเทียมกันทำให้การรวมตัวในสังคมน้อยลง และสะท้อนถึงความล้มเหลวและการไร้ธรรมาภิบาลของสังคม ขณะเดียวกันก็มองว่าความไม่เท่าเทียมกันดังกล่าวจะนำมาสู่นโยบายประชานิยมต่างๆ จึงมีข้อเสนอว่า นโยบายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำและการเพิ่มผลิตภาพทั้งสององค์ประกอบจะต้องไปด้วยกัน เพราะแม้ว่านโยบายค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นผลประโยชน์ของแรงงาน แต่นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเดียวไม่สามารถทดแทนสิทธิในการต่อรองได้

นายทิม กล่าวว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศค่อนข้างให้ความสำคัญกับความยุติธรรมในสังคมโดยจะต้องมีเสรีภาพอย่างทั่วถึงจึงต้องหากลไกต่างๆมารองรับเพื่อให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้จริง ทั้งนี้ถ้ามองความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างคงต้องหาจุดที่จะประนีประนอมกันได้ ซึ่งอนุสัญญา87/98 ได้ระบุไว้ และล่าสุดมีรายงานของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี) รายงานว่าภูมิภาคอินเดียและจีนยังมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่มาก แม้ประเทศไทยเมื่อเทียบกับอินเดียและจีนแล้วจะไม่ถือว่าไม่อยู่ในระดับที่รุนแรงนัก แต่เอดีบีมองว่า ความไม่เท่าเทียมกันเป็นเรื่องที่อันตรายสำหรับประเทศไทย

นายสมชาย วงษ์ทอง รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า อนุสัญญา87/98 จะมีผลเมื่อมีการรับรองแล้วและทุกส่วนจะต้องแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญา87/98 โดยคาดว่าเร็วๆนี้กระทรวงแรงงานจะประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเห็นเพิ่มเติมในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตามส่วนตัวคิดว่ากระทรวงแรงงานได้มีมติและความเห็นไว้แล้วว่า ประเทศไทยมีความพร้อมและเห็นควรให้รับรองอนุสัญญาดังกล่าว ก็ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ให้เกิดความรอบคอบอีกครั้งหนึ่งซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่นาน ส่วนที่มีข้อสังเกตว่าการดำเนินการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งเป็นกระบวนการที่ถอยหลังหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงคือ เป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆให้ความเห็นและเป็นการดำเนินการที่รอบคอบ

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า โดยกระบวนการไม่จำเป็นต้องให้หน่วยงานใดไปพิจารณาให้ความเห็นอีกครั้ง ซึ่งมีข้อสังเกตว่า หากวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ทุกกระทรวงไม่เห็นด้วยจะทำอย่างไร คิดว่าการรับรองอนุสัญญา87/98 ไม่ได้เป็นสิ่งที่เสียหาย จึงคิดว่าการเคลื่อนไหวหลังจากนี้คงไม่มีการขับเคลื่อนและรณรงค์เฉพาะเครือข่ายแรงงานในกรุงเทพฯอย่างเดียวแล้วอาจจะต้องมีการรณรงค์ให้มีการรับรองอนุสัญญา87/98 กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆด้วย

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยอยูในฐานะประเทศผู้ร่วมก่อตั้งอนุสัญญา87/98 ขณะที่ฝ่ายแรงงานได้ใช้งบประมาณเพื่อดำเนินการเคลื่อนไหวให้มีการรับรองไปแล้ว 100 ล้านบาทแต่รัฐยังไม่มีการให้สัตยาบันแต่อย่างใด ดังนั้นปัญหาของการรับรองส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการเมือง แม้ส่วนตัวไม่เชื่อว่าอนุสัญญา87/98 จะทำให้ชีวิตแรงงานดีขึ้นแต่อนุสัญญานี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เกิดการรวมตัว และเกิดพลังอำนาจในการต่อรองของแรงงาน โดยสถานการณ์ของไทยที่ผ่านมาผู้นำแรงงาน และสมาชิกสหภาพมักจะถูกกลั่นแกล้งด้วยการกระทำที่ไม่เป็นธรรม ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ไม่มีเสรีภาพในการรวมตัวได้จริงและถูกกีดกันแบ่งแยกกำลังจากภาครัฐ

“จากการศึกษาพบว่า ประเทศที่รับรองอนุสัญญา87/98 จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลจะต้องมีความเข้มแข็งหรือมีพรรคแรงงานในรัฐบาล จึงเห็นว่าสิทธิเสรีภาพตามอนุสัญญา87/98 คือพลังอำนาจต่อรองแต่กระบวนการรับรองมีความสลับซับซ้อนเพื่อกันไม่ให้ลงสัตยาบัน ส่วนตัวเชื่อว่ามีหน่วยงานที่ไม่เห็นด้วยกับการรับรองอนุสัญญา87/98 โดยเฉพาะสภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวที่มีความกังวลเรื่องการรวมตัวของแรงงาน จึงไม่เชื่อว่ากระบวนการรับรองต่อจากนี้จะราบรื่นอย่างที่หน่วยงานรัฐให้ความเชื่อมั่น” นายสาวิทย์ กล่าว

นายชฤทธิ์ มีสิทธิ์ นักวิชาการกฎหมายแรงงาน กล่าวว่า การรับรองอนุสัญญา87/98 ควรจะพิจารณาบนพื้นฐานของคุณค่าการผลิต หลักการของILO จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากการรวมตัว ส่วนตัวเห็นว่าสถานการณ์ในประเทศไทยพร้อมที่จะให้สัตยาบัน เพราะรัฐไม่มีกำลังคนและเครื่องมือ ไม่มีการตรวจสอบและดูแลแรงงานที่ดีพอ แต่อนุสัญญา87/98 จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะทำให้สิ่งดังกล่าวเกิดขึ้น จึงไม่อยากให้มองการรวมกลุ่มของแรงงานในด้านไม่ดีเพียงด้านเดียว

นายชฤทธิ์ กล่าวว่า หากรัฐไม่ให้สัตยาบันในอนุสัญญาดังกล่าว กลุ่มแรงงานอาจจะกระบวนการระหว่างประเทศแทน ทั้งนี้หากพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานปัจจุบันที่มีอยู่ 14 ฉบับค่อนข้างล่าหลังและไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา87/98 จึงมองว่าอนุสัญญา87/98 เป็นการเปลี่ยนแนวคิดของแรงงานสัมพันธ์ คือ กรอบนิยาม ความสัมพันธ์ของนายจ้างและลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานค่อนข้างแคบ และระบบการเจรจาต่อรองต้องให้ครอบคลุมทั้งด้านสวัสดิการความปลอดภัย และความมั่นคงของชีวิต อนุสัญญา87/98 จึงเป็นการให้สิทธิและเสรีภาพทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า มิติการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันมีสองรูปแบบ คือ การบังคับใช้เพื่อควบคุม และการบังคับใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการร่างพรบ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่ โดยตั้งอยู่บนหลักการที่สอดคล้องกับอนุสัญญา87/98 เช่น เปลี่ยนความสัมพันธ์นายจ้างลูกจ้างเป็นแบบหุ้นส่วนทางสังคม การเปลี่ยนนิยามนายจ้างลูกจ้าง โดยนิยามลูกจ้างเป็นคนทำงาน และนิยามนายจ้างเป็นผู้จ้างเพื่อให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตามควรมีกระบวนการแรงงานสัมพันธ์เพื่อความเป็นธรรม รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรแรงงานให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นด้วย

ติดต่อ:

สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกล็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version