- ๒๓ ม.ค. โฮมมีมอบไม้แปรรูปจากซองผลิตภัณฑ์โฮมมี ให้แก่ พม. เพื่อซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุ
- ๒๓ ม.ค. พม. ชวนเที่ยวงาน "Rice of life ประเพณีกินข้าวใหม่ วิถีแห่งความยั่งยืน" สัมผัสวิถีชีวิตราษฎรบนพื้นที่สูง จ.เชียงใหม่ 17-19 ม.ค.นี้
- ๒๓ ม.ค. การเคหะแห่งชาติพุ่งเป้าปี 2568 พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยรองรับทุกกลุ่มเป้าหมายให้สอดรับกับนโยบายกระทรวง พม.
นายปิ่นชาย ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ กล่าวว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่งผลกระทบถึงความปลอดภัยและสร้างความวิตกกังวลให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายด้านสังคมในการมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมเข้มแข็งให้คนในชาติอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างสมานฉันท์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ จึงได้จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเด็กต่างวัฒนธรรม ซึ่งได้บรรจุไว้ในแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ — ๒๕๕๕ รวม ๔ รุ่น ณ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดเพชรบูรณ์ ตามลำดับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีทักษะชีวิตท่ามกลางวัฒนธรรมที่แตกต่างและหลากหลาย สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข รวมทั้งตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมไทยแต่ละภาค มีความภูมิใจในความเป็นไทย อันจะนำมาซึ่งความรักชาติ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายเด็ก/เยาวชนให้มีการพัฒนาตนเอง ครอบครัว และชุมชน อีกทั้งยังให้ความสำคัญในการเตรียมเด็กและเยาวชนให้มีความพร้อมในการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนใน ปี ๒๕๕๘ อีกประการหนึ่งด้วย นายปิ่นชาย ปิ่นแก้ว กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกิจกรรมในการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ประกอบด้วย กิจกรรมย่อย ดังนี้๑) การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชน” ดำเนินการ ระหว่างวันที่ ๒๔ — ๒๖ เมษายน ๒๕๕๕ ณ ภูแก้ว รีสอร์ท อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นการให้ความรู้เรื่องการพัฒนาทักษะชีวิตด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของเด็กทุกกิจกรรมในเรื่องต่าง ๆ คือ การสร้างสัมพันธภาพ การยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล การคิดวิเคราะห์เหตุผล การเลือกตัดสินใจอย่างถูกต้อง ตลอดจนการทำงานเป็นทีมและการพัฒนาทักษะภาวะความเป็นผู้นำ ๒) กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างภาค และการพักกับครอบครัวรับรอง ดำเนินการระหว่างวันที่ ๒๗ เมษายน — ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๕ จำนวน ๗ วัน ๖ คืน ณ องค์การบริการส่วนตำบลสักหลง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างภาค เช่น การศึกษาแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น อาชีพและเศรษฐกิจชุมชน การจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชน การจัดมหกรรมกีฬาสานสัมพันธ์ Sport day และงานเลี้ยงแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างภาคระดับท้องถิ่น นายปิ่นชาย ปิ่นแก้ว กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โครงการดังกล่าวได้สร้างความเข้าใจอันดีระว่างเด็กและเยาวชนตลอดทั้งประชาชนในพื้นที่ที่ได้มีโอกาสต้อนรับเด็กจาก ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะ เด็กและเยาวชนเหล่านี้มีโอกาสได้เรียนรู้วิถีชีวิตลอดทั้งการดำเนินชีวิตประจำวันและขนบธรรมเนียมที่มีความแตกต่างที่หลากหลายขณะที่พักกับครอบครัวรับรองเป็นเวลา ๔-๕ วัน และมีหลายครอบครัวที่มีความผูกพัน มีการแวะเยี่ยมเยียนไปมาหาสู่หลังจากเข้ารวมโครงการฯ อีกทั้งยังเป็นกระบอกเสียงอธิบายถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากชายแดนใต้ว่าไม่ได้มีความรุนแรงและน่ากลัวอย่างที่มีการนำเสนอข่าวจากสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเด็กและเยาวชนจาก ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะช่วยกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนจากพื้นที่อื่นมีความเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และมีการเดินทางไปมาหาสู่กันมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป