นายธนวัฒน์ พลอยโสภณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ประธานในประชุม กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นเป็นพื้นที่ราบลุ่มอยู่ใกล้ภูเขา ซึ่งมีพื้นที่รับน้ำจำนวนมากหนึ่งมีความมีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมและภัยแล้งเป็นอย่างมาก โดยเฉาะในพื้นที่ลุ่มน้ำน้ำชี น้ำพอง น้ำเชิญ น้ำห้วยสายบาตรที่ใกล้เมืองขอนแก่นก็จะเป็นห้วยพระคือ ห้วยพระลับ ในพื้นที่แก่งละว้า ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินงานสาธิตนำร่องโครงการฯ ของ WWF ประเทศไทย เป็นพื้นที่รองรับน้ำหรือแก้มลิงขนาดใหญ่ที่สุดของลุ่มน้ำชี ช่วยรองรับและชะลอการไหลเข้าสู่เมืองขอนแก่นและจังหวัดด้านล่าง ซึ่งชุมชนโดยรอบแก่งละว้าและริมฝั่งแม่น้ำชีได้รับผลกระทบเรื่องน้ำท่วมหลาก สภาวะความแห้งแล้งที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของชุมชนทุกปี และความสมบูรณ์ของทรัพยากรยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปีเช่นกัน
“จะทำอย่างไรถึงจะสามารถช่วยให้เกิดการบูรณาการ สนับสนุนกิจกรรม รวมทั้งคิดค้นแนวคิดริเริ่ม นวัตกรรมใหม่ ๆ ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพที่ตอบสนองประโยชน์ของแก่งละว้าในหลากหลายมิติ ดังที่กล่าวมาข้างต้นได้อย่างสมดุล ทั้งการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ การพัฒนาและส่งเสริมอาชีพที่ยั่งยืนกับชุมชนที่เกี่ยวกับการประมง การเกษตร การปศุสัตว์ การท่องเที่ยว เพื่อจะเป็นบทเรียนและเครื่องมือให้จังหวัดขอนแก่นได้พัฒนาแผนแม่บทในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้าอย่างยั่งยืน ที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมได้จริง” นายธนวัฒน์ กล่าว
นายรัฐพล พิทักษ์เทพสมบัติ ผู้จัดการโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนและความมั่นคงของระบบนิเวศเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ WWF ประเทศไทย กล่าวว่า โครงการ ฯ ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิ โคคา โคลา ประเทศไทย ดำเนินงานในพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้าที่อำเภอบ้านไผ่และอำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น ระยะเวลาดำเนินกิจกรรม 3 ปี คือ 2554-2557 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาศักยภาพชุมชนและความมั่นคงของระบบนิเวศโดยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการจัดการทรัพยากรน้ำแบบมีส่วนร่วมในระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อรองรับและปรับตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์และข้อเท็จจริงของโครงการจะนำไปวางแผนการสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบภูมินิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งในระดับภูมิภาคลุ่มน้ำชีที่เกื้อหนุนต่อการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่น โดยจะลดความเสี่ยงและป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเท่าทัน” นายรัฐพล กล่าว
นายประสิทธิ์ หวานเสร็จ ผู้อำนวยการส่วนประสานและบริหารจัดการลุ่มน้ำชีตอนบน สำนักงานคณะกรรมการลุ่มน้ำชี กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่แก่งละว้าอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชี ส่วนที่ 3 จากทั้งหมด 20 ลุ่มน้ำสาขา มีพื้นที่ทั้งหมด 2,027,500 ไร่ เฉพาะตัวแก่งละว้าประมาณ 12,000 กว่าไร่ ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจึงส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป จะทำอย่างไรให้ชุมชนได้เรียนรู้อย่างเท่าทันและปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
“การดำเนินงานจะต้องเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน โดยใช้กลไกของคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมให้เป็นต้นแบบการจัดการระบบนิเวศอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำของภาคอีสานภายใต้สภาวะโลกร้อน” นายประสิทธิ์ กล่าว