ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เปิดเผยว่า สาขาวิชานิเทศศาสตร์ได้จัดทำอุดรโพล สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ความคิดเห็นของชาวอุดรธานีที่มีต่อการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาลนครอุดรธานี พ.ศ. 2555” โดยสำรวจความคิดเห็นของชาวอุดรธานีในเขตเทศบาลนครอุดรธานี ระหว่างวันที่ 24 — 30 เมษายน 2555 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,201 คน ผลการสำรวจพบว่าดังนี้
จากการสำรวจพบว่าประชาชนในเขตเทศบาลนครอุดรธานีชื่นชอบนโยบายของกลุ่มนครหมากแข้งมากที่สุด โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามคิดเป็นร้อยละ 48.3 รองลงมาชอบนโยบายของกลุ่มนครอุดรธานี คิดเป็นร้อยละ 44.6 สำหรับนายกเทศมนตรีพบว่าชาวอุดรธานีชื่นชอบเบอร์ 1 นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒน์สุวรรณ มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 58.0 รองลงมา ชื่นชอบเบอร์ 2 นายสมพล ศรีปัตติวงษ์ คิดเป็นร้อยละ 42.0
ชาวจังหวัดอุดรธานีต้องการให้นายกเทศมนตรีแก้ไขปัญหายาเสพติดมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 32.1 รองลงมาคือ ปัญหาการจราจร คิดเป็นร้อยละ 28.3 ปัญหาเด็กแว๊นท์ ร้อยละ 12.7 ปัญหาปากท้อง ร้อยละ 8.5 ปัญหาลักขโมย ร้อยละ 7.4 แก้ไขปัญหาการศึกษา ร้อยละ 5.5 ปัญหาขยะมูลฝอย ร้อยละ 5.1 ตามลำดับ
ด้านความพึงพอใจกับผลการดำเนินงานของเทศมนตรีชุดเดิม พบว่า มีความพึงพอใจอยู่ในเกณฑ์ปานกลางมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 44.5 รองลงมา พึงพอใจน้อย ร้อยละ 31.1 พึงพอใจน้อยที่สุด ร้อยละ 12.7 พึงพอใจมาก ร้อยละ 9.2 และพึงพอใจมากที่สุด ร้อยละ 1.9 ตามลำดับ
สำหรับบรรยากาศในการเลือกตั้งครั้งนี้ชาวอุดรธานีเห็นว่าเป็นการชูนโยบายเป็นหลัก คิดเป็นร้อยละ 44.8 รองลงมาเห็นว่า ใช้สื่อโฆษณามาก คิดเป็นร้อยละ 19.4 การหาเสียงดุเดือดเข้มข้น คิดเป็นร้อยละ 17.7 หาเสียงกับชุมชน คิดเป็นร้อยละ 8.2 มีการโจมตีใส่ร้ายคู่แข่งขัน คิดเป็นร้อยละ 5.6 และอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 3.3 ตามลำดับ
การรับรู้ข่าวสารการเลือกตั้งพบว่า ชาวอุดรธานีได้รับข่าวสารจากสื่อป้ายโฆษณามากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 46.8 รองลงมาคือ เคเบิ้ลทีวี ร้อยละ 21.8 รถแห่ ร้อยละ 11.2 การเดินเข้าพบประชาชน ร้อยละ 8.3 วิทยุชุมชน ร้อยละ 6.6 สื่อออนไลน์ ร้อยละ 2.5 หนังสือพิมพ์ร้อยละ 1.7 และสื่ออื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 1.0 ตามลำดับ
สำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ชาวอุดรธานีรู้ว่าจะจัดการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม 2555 คิดเป็นร้อยละ 85.3 ขณะที่ไม่ทราบ คิดเป็นร้อยละ 14.3 การสำรวจครั้งนี้ เป็นหญิง คิดเป็นร้อยละ 54.2 ชาย ร้อยละ 45.8 ส่วนใหญ่อยู่ในอายุระหว่าง 18 — 25 ปี คิดเป็นร้อยละ 31.1 รองลงมาอายุ 26 — 35 ปี คิดเป็นร้อยละ 32.0 อายุ 36 — 45 ปี ร้อยละ 18.4 อายุ 46 — 60 ปี ร้อยละ 12.5 อายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 4.0 ตามลำดับ.