ดังนั้น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะหน่วยงานประสานงานกิจกรรมภายใต้องค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก หรือ Asia Pacific Space Cooperation Organization (APSCO) ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีในด้านกิจการอวกาศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงได้ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการ APSCO เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญของประเทศภาคีสมาชิกภายใต้อนุสัญญา APSCO เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ Research on Atmospheric Effects on Ka Band Rain Attenuation Modelling ; and Ionospheric Modelling through Study of Radio Wave Propagation and Solar Activity.
การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 1 -3 พฤษภาคม 2555 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการฯ ด้านต่างๆ อาทิ วัตถุประสงค์และขอบเขตการดำเนินโครงการ การออกแบบและแนวทางการดำเนินโครงการ ต้นทุนการดำเนินโครงการ การมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกและการแบ่งปันผลประโยชน์ เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศในด้านต่างๆ ตลอดจนสามารถพัฒนาองค์ความรู้เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีในอนาคตได้
สำหรับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญของประเทศภาคีสมาชิกภายใต้อนุสัญญา APSCO ที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้มาจาก 9 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐตุรกี สาธารณรัฐประชาชนบังคลาเทศ ประเทศมองโกเลีย สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐเปรู และประเทศไทย โดยผู้เข้าร่วมประชุมฝ่ายไทย ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)
“การประชุมฯ ในครั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยได้รับโอกาสในการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศ เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเป็นการแสดงความสามารถ รวมถึงผลงานของนักวิทยาศาสตร์ไทย ตลอดจนเป็นการจัดสรรการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรร่วมกันในภูมิภาคให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาความร่วมมือและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศ รวมทั้งเกิดการประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการพัฒนาเทคโนโลยีและการใช้ประโยชน์จากอวกาศกับประเทศต่างๆ จากศักยภาพที่มีอยู่ร่วมกัน ภายใต้กรอบความร่วมมือและความตกลงระหว่างประเทศ อันเป็นการส่งเสริมบทบาทในเวทีโลกของประเทศไทยในฐานะสมาชิกขององค์การ APSCO ให้มีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้น และเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจการอวกาศให้กับบุคลากรด้านอวกาศของประเทศอีกด้วย” นายวรพัฒน์ กล่าว