งานดังกล่าวเกิดขึ้นในวันพุธที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยปีนี้นับเป็นครั้งที่ 9 ตั้งแต่คณะฯ ได้จัดโครงการวันนักวิจัยพบชุมชนในปี 2546 เป็นต้นมา โดยมุ่งเน้นให้นักวิจัยของคณะได้มีโอกาสพบปะกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงผู้ประกอบการในระดับต่างๆ เพื่อรับทราบปัญหา และร่วมกันแก้ปัญหาให้ชุมชนต่อไป ทั้งยังสนองพันธกิจในการรังสรรค์ผลงานวิจัยทั้งระดับพื้นฐานและประยุกต์ในสาขาต่างๆ ให้สามารถนำผลงานที่ได้รับไปมีส่วนในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคม รวมทั้งให้บริการวิชาการเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศและท้องถิ่นภาคเหนือ
ภายในงานมีการเสวนาเรื่อง “วิศวกรรมกับการแก้ปัญหาจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ: ด้านทรัพยากรธรรมชาติ โครงสร้างพื้นฐานพลังงานและนวัตกรรม” ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายอภิวัฒน์ คุณารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1, ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายและแผน กรมทรัพยากรน้ำ คุณวิเชียร เชิดชูตระกูลทอง รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และรศ.ดร.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมเสวนา
หลังจากนั้นได้มีการแถลงข่าว “วิศวฯ มช. กับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาภาคเหนือและประเทศไทย” เปิดตัวศูนย์วิจัยบูรณาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จะช่วยแก้ปัญหาด้านภัยพิบัติจากน้ำท่วมและแผ่นดินไหวของภาคเหนือ รวมทั้งปัญหาด้านการใช้พลังงานที่มีราคาแพงขึ้นมากในปัจจุบัน ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มการสร้างงานในภาคอุตสาหกรรม ทั้งสิ้น 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์วิจัยเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โครงสร้างพื้นฐานและภัยพิบัติ Natural Resource Infrastructure and Disaster Management Center (NID) ซึ่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โครงสร้างพื้นฐาน และภัยพิบัติ รวมถึงการประยุกต์ใช้ระบบภูมิสารสนเทศศาสตร์ เพื่อนำไปสู่แผนพัฒนาระดับต่างๆ, ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม Energy Technology for Environment Research Center (ETE) ที่มุ่งหมายแก้ไขปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศ มุ่งเน้นผลิตผลงานวิจัย และบริการวิชาการ ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม, กลุ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก Assistive Technology Research and Development Group ผู้ผลิตผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีสำหรับช่วยเหลือผู้พิการ ถ่ายทอด เผยแพร่เทคโนโลยี ผลิตบัณฑิตที่สามารถทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับช่วยเหลือผู้พิการ อีกหนึ่งศูนย์ คือ ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (TDCI) เกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในสังกัดของมช. ประกอบด้วย คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจ โดยสนับสนุนมหาวิทยาลัย ภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานภายนอก ในการพัฒนางานวิจัยพัฒนา เชิงพาณิชย์ การพัฒนาเทคโนโลยีตามความต้องการของอุตสาหกรรม สร้างนวัตกรรมและโอกาสทางธุรกิจร่วมกันในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นสะพานเชื่อมไปสู่การจัดตั้งและบริหารอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งศูนย์วิจัยบูรณาการทั้งสี่นี้ จะเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนให้การศึกษาค้นคว้าวิจัยสามารถนำไปปรับใช้ประโยชน์ได้จริง และตอบสนองความต้องการด้านต่าง ๆ ของสังคม ให้สมกับการได้มีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งให้กับภาคเหนือ และประเทศต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการเสวนาเกี่ยวกับการใช้พลังงานทดแทน การป้องกันตัวจากภัยพิบัติ และนวัตกรรม อันเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม การประชุมเชิงวิชาการ(เวทีสาธารณะ) หัวข้อ “Biogas Safety” สร้างความเข้าใจอันถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยจากการผลิตและใช้แก๊สชีวภาพ ซึ่งผู้ร่วมงานมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ นำเสนอปัญหาและร่วมกันหาแนวทางแก้ไข, “นโยบายและแผนของกรมทรัพยากรน้ำ เกี่ยวกับการป้องกันภัยพิบัติจากน้ำท่วมเชียงใหม่และภาคเหนือ” โดยนายสราวุธ ชีวะประเสริฐ ผอ.ส่วนนโยบายและแผน กรมทรัพยากรน้ำ “การจัดการเพื่อป้องกัน ภัยพิบัติด้านทรัพยากรน้ำสำหรับเชียงใหม่และภาคเหนือ” โดย รศ.ชูโชค อายุพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวฯ มช. นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัว “โครงการสร้างนวัตกรรมเข้มแข็งของผู้ประกอบการในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1” โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบรรยายเรื่อง “การปรับตัวของผู้ประกอบการไทยต่อ AEC ด้วยนวัตกรรมและกลยุทธ์ทะเลสีคราม” โดย รศ.ดร.อภิชาต โสภาแดง รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ติดต่อ:
งานบริหารงานวิจัย บริการวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร. 053-944-176-7