บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดเสวนาพร้อมด้วยสถาบันวิจัยพลังงาน นักวิชาการ ตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงาน ชี้แนวทางกำหนดนโยบายและราคาพลังงานที่เหมาะสมต่อประเทศไทย เน้นภาครัฐเปิดเผยข้อมูลสะท้อนต้นทุนราคาพลังงานที่แท้จริง พร้อมกำหนดโครงสร้างราคาพลังงานที่เหมาะสมและเป็นธรรม ลดการอุดหนุนต้นทุน ส่งเสริมพลังงานในประเทศ กระตุ้นทุกภาคส่วนปรับพฤติกรรมการใช้พลังงาน พร้อมวางยุทธศาสตร์มุ่งสู่ความยั่งยืนในอนาคต
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน เปิดเผยว่า นโยบายเร่งด่วนสำคัญประการหนึ่งที่รัฐบาลประกาศจะดำเนินการภายในปีแรกคือ การปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบให้มุ่งสู่การสะท้อนราคาต้นทุนพลังงานที่แท้จริง โดยรัฐบาลได้เริ่มต้นทยอยปรับโครงสร้างราคา LPG และ NGV มาตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากจนเกินไป ซึ่งนอกจากจะเป็นการผลักดันให้มีการใช้พลังงาน อย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมให้เกิดการประหยัดพลังงานแล้ว ยังเป็นการช่วยลดภาระของกองทุนน้ำมันลงได้ในเบื้องต้น ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มเดินหน้านโยบายที่จะปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สมดุลกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ท่ามกลางสภาวการณ์ที่ราคาพลังงานในตลาดโลก มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ อาจเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ ข้อเท็จจริงต่างๆ รวมทั้งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากนโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน หน่วยงานภาครัฐจึงจำเป็นที่จะต้องออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงในการปรับโครงสร้างต้นทุนพลังงานให้ประชาชนได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็น ข้อตกลงด้านพลังงานของประชาคมอาเชียนที่ประเทศไทยได้ทำข้อตกลงไว้ ผลเสีย และ ผลกระทบ ที่เกิดจากการบิดเบือนราคาพลังงานมาเป็นเวลานาน การนำงบประมาณบริหารน้ำมัน ไปใช้อุดหนุนราคาก๊าซ การอุดหนุนราคาน้ำมันมากจนเกินไปจนสถานะภาพกองทุนน้ำมันที่ย่ำแย่ โดยติดลบแล้วกว่า 25,000 ล้านบาท ตลอดจนการบริหารเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแห่งชาติที่ถูกนำไปใช้โดยไม่เกิดประโยชน์และขาดความคุ้มค่า เป็นต้น
นโยบายจุดยืนด้านพลังงาน จึงต้องยึดโครงสร้างราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม โดยภาครัฐควรกำหนดนโยบายและแผนพลังงานระยะยาวของแต่ละภาคส่วนให้ชัดเจนบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง รวมถึงการสร้างความรู้ ความเข้าใจ อย่างทั่วถึง ซึ่งนับเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด แนวทางการแก้ไขปัญหาพลังงานจะต้องปรับโครงสร้างราคาพลังงานใหม่ทั้งหมดให้สอดคล้องกัน ลดการอุดหนุน ลดการตรึงราคาพลังงานและปล่อยลอยตัวในที่สุด ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกใช้พลังงานที่เหมาะสมกับความต้องการ โดยการกำหนดนโยบายด้านพลังงานกับภาวะความผันผวนของราคาพลังงานต้องเน้นไปที่ประสิทธิภาพของการใช้พลังงานมีเป้าหมายในการลดการนำเข้าพลังงานในระยะยาว
ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงสร้างราคาขายปลีกผลิตภัณฑ์น้ำมันในปัจจุบันยังมีข้อบกพร่องสำคัญคือ มีการอุดหนุนราคาสำหรับก๊าซหุงต้มมากเกินไป เป็นการตรึงราคาขายปลีกไว้ต่ำจนทำให้มีการบริโภคในปริมาณที่มากเกินไป และเป็นการใช้เชื้อเพลิงที่ไม่มีประสิทธิภาพในสาขาขนส่งและโรงงานอุตสาหกรรม จนต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อมาเสริมปริมาณที่สามารถกลั่นหรือแยกก๊าซได้ในประเทศ ในขณะเดียวกันก็ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องจ่ายเงินชดเชยออกไปเป็นจำนวนมาก
แนวทางการกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันที่เหมาะสม ควรมีลักษณะและคุณสมบัติที่สอดคล้องกัน ได้แก่ ส่งเสริมการใช้น้ำมันอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ใช้วัตถุดิบซึ่งผลิตได้ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล ส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงที่มีผลในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน ดำเนินการให้แบบแผนการบริโภคและแบบแผนการกลั่นน้ำมันสอดคล้องกัน โดยไม่ทำให้ประเทศ ต้องนำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันมากเกินไป นอกจากนี้ ภาครัฐควรเก็บรายได้ภาษีจากการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันในอัตราที่เหมาะสม โดยอาจต้องเข้าแทรกแซงการกำหนดราคาขายปลีกผลิตภัณฑ์น้ำมันให้ราคาขายปลีกผลิตภัณฑ์น้ำมันควรสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ไม่ควรตรึงราคาน้ำมัน ทั้งที่เป็นราคาขายปลีก ราคาขายส่ง และราคา ณ โรงกลั่น เพราะการตรึงราคาส่วนใหญ่เป็นการกดราคาไว้ต่ำ จนทำให้การใช้พลังงานไม่มีประสิทธิภาพ ควรลอยตัวราคาน้ำมันให้สามารถเคลื่อนไหวขึ้นลงไปได้ตามราคาตลาดโลก ยกเว้นในกรณีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนขึ้นลงอย่างมาก ภาครัฐก็อาจเข้า แทรกแซงราคาโดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อลดความผันผวนดังกล่าวในระยะสั้น
นอกจากนี้ ราคา ณ โรงกลั่นของผลิตภัณฑ์น้ำมันต่างๆ ควรเท่ากับราคานำเข้า เช่น ราคา ณ โรงกลั่นที่สิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมโรงกลั่นในประเทศสามารถแข่งขันกับโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพในระดับสูงได้ พร้อมทั้งให้มีการเก็บภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่สอดคล้องกับสภาวะของตลาดที่เกิดขึ้น โดยรวมต้นทุนภายนอกอื่นๆ เข้าไป เพื่อให้ระดับราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่สะท้อนถึงประสิทธิภาพในทางเศรษฐศาสตร์ การกำหนดค่าการตลาดรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดบวกกำไรในการทำธุรกิจของผู้ค้าปลีกน้ำมันด้วย การกำหนดเป้าหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สามารถเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้รายรับที่มากกว่าจำนวนเงินที่ต้องใช้ในการชดเชยออกไป เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาขายปลีกและใช้ลดความผันผวนของราคาขายปลีกไม่ให้ปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามราคาตลาดโลก การกำหนดช่วงห่างของราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันในกลุ่มที่สามารถทดแทนกันได้ให้มีราคาแตกต่างพอสมควรเพื่อกระตุ้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้น้ำมันในประเภทที่ภาครัฐส่งเสริม
การกำหนดนโยบายและราคาพลังงานที่เหมาะสมต่อประเทศไทยเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างการบริโภคและจัดสรรพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนครัวเรือนต่างๆ ในประเทศไทย โดยจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐในการบรรจุเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนรับผิดชอบด้านพลังงานเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ดำเนินการ และ สร้างผลสัมฤทธิ์ให้เกิดขึ้นจริง