กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--คอมมูนิ เคชั่นแอนด์ แอนด์ มอร์
นักโภชนาการแนะบริโภคข้าวธัญพืช เพื่อการมีสุขภาพที่ดี เนื่องจากข้าวโอ๊ตอุดมด้วยเส้นใยอาหารชนิดละลายน้ำได้ มีผลต่อการลดคอเลสเตอรอลโดยตรง เป็นสาเหตุโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็น 1 ใน 3 โรคที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดถึงชั่วโมงละ 5 คน
ม.ร.ว.พรรณนิภา จันทรทัต ประธานชมรมโภชนวิทยามหิดล เปิดเผยถึงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกปีละ 17 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น 25 ล้านคนในปี 2563 และโรคหัวใจและหลอดเลือดยังติดอันดับ 1 ใน 3 ของโรคที่คร่าชีวิตคนไทย โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2546 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงถึงปีละ 999,413 ราย และมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยชั่วโมงละ 5 คน โดยมีต้นเหตุสำคัญมาจากปัญหาคอเลสเตอรอลและไขมันในเลือดสูง
“คอเลสเตอรอลเป็นไขมันที่ผลิตขึ้นโดยตับ ซึ่งพบได้ในอาหารที่มาจากสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อไก่ อาหารทะเล และผลิตภัณฑ์จากนม คอเลสเตอรอลมีบทบาทสำคัญหลายอย่าง อาทิ การผลิตฮอร์โมนบางตัว การย่อยสลายไขมัน ฯลฯ แต่การที่ร่างกายมีคอเลสเตอรอลมากเกินไปก็อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมาได้ เช่น ถ้ามีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงก็จะไปทำลายและอุดตันเส้นเลือดแดง ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด”
ม.ร.ว.พรรณนิภา ยังได้กล่าวถึงบทบาทของธัญพืชกับการลดคอเลสเตอรอลและป้องกันโรคหัวใจว่า “ไฟเบอร์ที่อยู่ในธัญพืช โดยเฉพาะไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำได้ที่มีชื่อว่า เบต้า-กลูแคน ซึ่งมีมากในข้าวโอ๊ตเป็นเสมือนตัวขับเคลื่อนให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น ส่งผลให้มีระบบขับถ่ายที่ดี และทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำเล็กๆ ที่คอยซับคอเลสเตอรอลในลำไส้เล็กและขับออกจากร่างกาย เมื่อคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดลดลงความเสี่ยงของโรคต่างๆ ก็ลดลงด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันอุดตันในเส้นเลือด จึงช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และยังมีส่วนในการช่วยรักษาน้ำหนักตัว และลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานอีกด้วย”
นอกเหนือจากการบริโภคธัญพืชเป็นประจำแล้ว วิธีการปรุงอาหารก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ ควรปรุงด้วยน้ำมันพืช พยายามให้อ่อนเค็มและอ่อนหวาน ขณะเดียวกัน
ม.ร.ว.พรรณนิภา ยังได้แนะนำถึง 10 ข้อปฏิบัติที่จะช่วยให้พ้นจากการเป็นโรคหัวใจ
ซึ่งประกอบด้วย 1. ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ 2. รักษาสมดุลของน้ำหนักตัว 3. กินผักและผลไม้สด 4.อย่าปล่อยให้เครียดนาน 5.งดสูบบุหรี่ 6.ควบคุมระดับความดันในเลือด 7. ควบคุมระดับไขมันในเลือด 8.ระวังโรคเบาหวาน 9.ตรวจสุขภาพประจำปี 10.ดูแลหัวใจตนเอง
“กุญแจสำคัญที่จะช่วยลดคอเลสเตอรอลและป้องกันโรคหัวใจคือ การมีโภชนาการที่ดี โดยเน้นการบริโภคธัญพืชที่อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการและมีเส้นใยที่ละลายน้ำได้ ซึ่งข้าวโอ๊ตเป็นอาหารที่องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา แนะนำให้รับประทานข้าวโอ๊ตเป็นประจำเพื่อลดคอเลสเตอรอล และความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ” ม.ร.ว.พรรณนิภา กล่าวในท้ายสุด
สอบถามรายละเอียดฝ่ายประชาสัมพันธ์
โทร. 0-2736-3430 ต่อ 32--จบ--
- พ.ย. ๒๕๖๗ ปัญหาติดเกมวายร้ายทำลายเยาวชนไทย สธ. ผนึกพลัง 84 องค์กร ประกาศเจตนารมณ์ คุ้มครอง ป้องกัน และแก้ไข
- ๐๔:๑๗ องค์การอนามัยโลกจับมือประเทศไทย และ 194 ประเทศ เร่งสร้างฉันทมติดันความเสมอภาคสุขภาพช่องปากเป็นวาระโลก
- ๒๗ พ.ย. FAO จัดงาน World AMR Awareness Week Food Fair 2024 รวมพลังลดปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ
- ๒๗ พ.ย. WHO - กรมอนามัย มอบรางวัล 4 เมืองสุขภาพดี SEAR ในประเทศไทย