วิกฤติการณ์ด้านพลังงานของประเทศ ผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนซึ่งทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ นับวันจะทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนมากขึ้น พลังงานสิ้นเปลือง ที่ใช้อยู่ทั่วโลกและเป็นสาเหตุสำคัญของการเพิ่มก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และก่อให้เกิดปัญหาสภาวะโลกร้อนขึ้นในปัจจุบัน ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานต่างๆ จากต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากแหล่งพลังงาน ภายในประเทศมีไม่เพียงพอ มูลค่าการนำเข้าแต่ละปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายด้านพลังงานกว่าร้อยละ 18 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ โดยมีอัตราการขยายตัวของการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปริมาณพลังงานสำรองของประเทศและโลกกำลังลดน้อยลง ตรงข้ามกับราคาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้ปัญหาดังกล่าวกลายเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้อีกต่อไป ในปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกกำลังพยายามทุกวิถีทางในการแสวงหาพลังงานทดแทน และวิธีในการใช้ทรัพยากรด้านพลังงานที่เหลืออยู่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการอนุรักษ์พลังงาน
ที่สำคัญในปัจจุบันเรื่องของพลังงานกลายเป็นวาระแห่งชาติ ภาครัฐได้ออกกฎ ข้อบังคับและมาตรการต่างๆ ในการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้การผลิตผู้เชี่ยวชาญหรือวิศวกรด้านพลังงาน จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนของประเทศ ที่สำคัญจะเป็นที่ต้องการและมีความจำเป็นเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในอนาคตอันใกล้นี้
ดร.ฐกฤต ปานขลิบ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมพลังงาน วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม กล่าวว่า เปิดเผยว่า หลักสูตรพร้อมแล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ในภาคการศึกษานี้ เริ่มเรียนมิถุนายน 2555 จริง ๆ แล้วการเตรียมตัวของสาขาวิศวกรรมพลังงานเราทำมาเป็นปีแล้ว ถามว่าเรียนยากไหม หลักสูตรนี้เรียนไม่ยาก เพราะหลักสูตรนี้เป็นการประยุกต์องค์ความรู้แต่ละสาขาทางด้านวิศวกรรมมารวมกัน เพื่อให้นักศึกษานำเอาความรู้เหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ได้จริง ขณะนี้กำลังเปิดรับสมัครนักศึกษา มีทั้งหลักสูตร 4 ปีและหลักสูตร 4 ปีเทียบโอน ผู้จบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ก็มาต่อได้ แต่วิชาที่จะเทียบโอนให้ต้องอยู่ในมาตรฐานที่สภาวิศวกรรับรอง
สำหรับแนวทางในการประกอบอาชีพหลังสำเร็จการศึกษา สามารถทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ได้หลากหลาย อาทิ วิศวกรและนักวิชาการด้านพลังงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์พลังงาน ผู้จัดการด้านพลังงานในอาคารและโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ตรวจวัดและวิเคราะห์ด้านพลังงาน พนักงานในโรงไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ปฏิบัติงานในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในด้านพลังงาน หรือประกอบธุรกิจส่วนตัวทางด้านโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก รวมถึงการสอบเข้ารับราชการหรือเป็นพนักงานของหน่วยงานรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ
“ในอนาคตอันใกล้ผู้สำเร็จสาขาวิศวกรรมพลังงานจะมีความสำคัญมาก ไม่แพ้วิศวกรรมสาขาอื่น ๆ และสาขานี้จะเป็นสาขาทางเลือกสำหรับนักศึกษายุคใหม่ เพื่อการรับมือกับวิกฤตพลังงานที่จะเกิด ผมมั่นใจว่าในอีก 4 ปีข้างหน้าจะเป็นจังหวะเหมาะสมพอดีที่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจะเป็นที่ต้องการของทุกภาคส่วน สำหรับแผนงานต่อไปได้เตรียมแผนจะเปิดสอนในระดับบัณฑิตศึกษา ในการต่อยอดการศึกษาและทำวิจัยที่จะนำไปใช้ได้จริงต่อไป”
นางสาวปฏิญญา งามเลิศรัศมี (น้องยีนส์) เปิดเผยว่า หลังจากจบมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสตรีวัดระฆัง ก็มาต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ที่โรงเรียนเทคโนโลยีสยาม สาขาคอมพิวเตอร์ English Program แล้วไปต่อปริญญาตรี นิเทศศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยสยาม เรียนอยู่ 1 ปี ก็รู้ว่าไม่ใช่สิ่งที่ชอบ จึงเลยตัดสินใจมาสมัครเรียนสาขาวิศวกรรมพลังงาน ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
“ก่อนที่จะมาที่นี่ก็คิดอยู่ 2 อย่าง คือ ไฟฟ้ากับโลจิสติกส์ เพราะที่นี่ก็มี 2 สาขานี้ โดยคุณแม่อยากให้เรียนสาขาเทคโนโลยีโลจิสติกส์ แต่ใจเราอยากลงสาขาไฟฟ้า แต่พอมาที่วิทยาลัยก็ทราบว่ามีสาขาวิศวกรรมพลังงาน ซึ่งเป็นสาขาใหม่ก็เลยสอบถามรายละเอียด อาจารย์ให้ข้อมูลดีมาก ตอนนี้ก็เลยสมัครเป็นนักศึกษาสาขานี้แล้ว”
ด้านนางสาวจิตตินี กาญจนพิบูลย์ (น้องฝน) เปิดเผยว่า มัธยมต้นเรียนที่โรงเรียนวัดสิงห์ แล้วมาต่อประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ที่โรงเรียนเทคโนโลยีสยาม สาขาคอมพิวเตอร์ English Program เหมือนกับยีนต์ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกัน พอจบแล้วก็ไปต่อที่วิทยาลัยดุสิตธานี สาขาคหกรรมศาสตร์ แต่สุดท้ายก็รู้ว่าไม่ใช่สิ่งที่ชอบ ก็เลยคิดว่าปรับตัวตอนนี้ก็ยังไม่สายเกินไป พอมาปรึกษากับอาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิศวกรรมพลังงานแล้ว ก็ทำให้เข้ารู้ใจรายละเอียดมากขึ้น เห็นโอกาสในอนาคตที่มีมากเช่นเดียวกัน ก็เลยตัดสินใจสมัครเรียนสาขานี้ และในอนาคตก็คาดหวังว่าจะทำงานเกี่ยวกับสาขาที่เรียนมา