ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการฯ วช. เปิดเผยว่า วช. ได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ รศ.ดร.คณพล จุฑามณี และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อขยายผลต่อยอดงานวิจัย เรื่อง “การพัฒนาดินขาวเคโอลินเป็นสารเคลือบผล เพื่อเพิ่มผลผลิต ควบคุมเพลี้ยไฟ และโรคแอนแทรคโนสในไม้ผลเศรษฐกิจ” โดยนำดินขาวเคโอลินที่ใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิค เครื่องสำอาง มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร เป็นสารเคลือบใบและผลในมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้และลดการระบาดของโรคแอนแทรคโนสและราดำในแก้วมังกร จากการศึกษาวิจัยพบว่า ดินขาวเคโอลินในประเทศไทยมีอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง (MT) อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ (UTD) และอำเภอเมือง จังหวัดระนอง (RN) ต่างมีคุณสมบัติทางกายภาพและเคมี รวมทั้งคุณสมบัติในการเป็นวัสดุเคลือบใบ กิ่ง และผล เพื่อลดอาการใบไหม้ และเพิ่มคุณภาพผลผลิตในไม้ผลต่างกัน โดยพบว่าดินขาวเคโอลินทั้ง ๓ แหล่ง สามารถนำมาพัฒนาเป็นสารเคลือบใบและผลในมะม่วงและแก้วมังกรได้ดี เมื่อพ่นสารเคโอลินจะสามารถป้องกันการทำลายของแมลงศัตรูพืชได้ และยังป้องกันไม่ให้ผิวผลไม้สัมผัสกับแดดโดยตรง เนื่องจากมีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มบาง ๆ จึงทำให้ผลไม้มีผิวสวยงาม โดยเฉพาะดินขาวเคโอลินจากอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง (MT) เหมาะสำหรับใช้เคลือบผลมะม่วงในฤดูร้อน เพื่อป้องกันกระบวนการสังเคราะห์แสงของมะม่วง ทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น ผิวมะม่วงในระยะสุกมีสีเหลืองสวยงาม และยังช่วยลดโอกาสของการเกิดโรคแอนแทรคโนสบนผิวมะม่วงน้ำดอกไม้ในระยะผลสุกได้ นอกจากนั้น ยังลดการเกิดโรคใบจุดสีน้ำตาลบนกิ่งแก้วมังกรด้วย
ผลจากการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ดินขาวเคโอลินสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิต ลดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช และสามารถช่วยลดการใช้สารเคมีในการควบคุมแมลงและโรคพืชในไม้ผลเศรษฐกิจได้ดี