รองศาสตราจารย์ ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า จากความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่งผลให้เกิดความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสาธารณสุข จนทำให้จำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับสังคมไทยที่เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ทำให้จำนวนประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่า ประชากรผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่สังคมต้องให้การดูแล เนื่องจากเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายไปในทางเสื่อมถอย และเป็นวัยที่เป็นภาระของสังคมมากขึ้น
ดังนั้น เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของสังคมไทยดังกล่าว ทาง ม.อ. จึงได้จัดตั้ง ‘สถานวิจัยระบบการดูแลผู้สูงอายุไทย’ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของคณะพยาบาลศาสตร์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิภาวี คงอินทร์ เป็นผู้อำนวยการสถานวิจัยฯ เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์เพื่อสร้างฐานความรู้และพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในอนาคต ทั้ง 4 ด้านได้แก่ การจัดการตนเองในผู้สูงอายุ การจัดระบบสนับสนุนกระบวนการเปลี่ยนผ่านของผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเรื้อรัง การจัดการชมรมหรือเครือข่ายผู้สูงอายุและการจัดระบบสุขภาพชุมชนเพื่อการดูแลผู้สูงอายุไทย ซึ่งแบ่งการดำเนินการในระยะ 5 ปี โดยในปีแรก จะเริ่มจากการวิเคราะห์สถานการณ์ ปีที่ 2-3 จะพัฒนารูปแบบการวิจัย ปีที่ 4 เป็นการทดสอบ และปีที่ 5 เป็นการขยายผล เพื่อนำรูปแบบระบบสุขภาพที่พัฒนาขึ้นจากผลวิจัยที่ได้ ไปผลักดันแผนพัฒนาสุขภาพในระดับตำบล จนถึงระดับภาคเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
“สังคมไทยได้เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยคาดการณ์ว่าในปี 2558 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุ คิดเป็น 15.6% จากจำนวนประชากรทั้งประเทศและเพิ่มเป็น 21.5% ในปี 2568 ก่อนจะเพิ่มเป็น 25% ในปี 2576 ทำให้ต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ที่คำนึงถึงสภาพจิตใจ ร่างกาย และสังคมของผู้สูงอายุ โดยใช้งานวิจัยเข้าไปช่วยสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจ เพื่อพัฒนาให้เกิดความสมดุลและเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้สูงอายุ” รองศาสตราจารย์ ดร.บุญสม กล่าว