“โครงการพ่อแม่อุปถัมภ์” เพื่อ “เด็กด้อยโอกาส” เติมเต็ม “ความรัก-ความอบอุ่น” สร้างคนดีคืนสังคม

อังคาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๐๑๒ ๑๘:๐๖
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 จังหวัดสตูล เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาส เด็กกำพร้า ฐานะยากจน เร่ร่อน หรือชนกลุ่มน้อย รวมถึงเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ โดยเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6

ด้วยเป็นโรงเรียนประจำแบบ “กิน-นอน” ดังนั้นทุกวันเสาร์-อาทิตย์ หรือสิ้นเดือน เด็กส่วนใหญ่ก็จะมีผู้ปกครองมารับกลับไปบ้าน แต่ก็ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ผู้ปกครองไม่สามารถมารับกลับบ้านได้เนื่องจากฐานะยากจน มีความยากลำบากในการเดินทาง บ้างก็ไปทำงานต่างถิ่น นานๆ ครั้งจึงจะได้กลับบ้านเพื่อมาเยี่ยมลูกหลานที่โรงเรียน

ด้วยความผูกพันและใกล้ชิด เพราะต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเด็กตลอด 24 ชั่วโมง “ครูประดิพัตร ช้างขาว” หรือ “แม่เว้ว” ของเด็กๆ ว่าที่ครูสอนดีจากโครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” หรือ “ครูสอนดี” ของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) โดย ครูประดิพัตร ได้จัดทำ “โครงการพ่อแม่อุปถัมภ์” ขึ้นเพื่อเติมเต็มความรักความอบอุ่นให้เด็กกลุ่มนี้

“โครงการนี้เกิดขึ้นจากเด็กส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ที่ไม่มีพ่อไม่มีแม่ เพราะผู้ปกครองที่เอาเด็กเล็กๆ มาอยู่โรงเรียนประจำคงจะเป็นผู้ปกครองที่ลำบากจริงๆ ในวันเสาร์อาทิตย์เด็กส่วนใหญ่จะมีพ่อแม่มีญาติมาเยี่ยม เอาขนม เอาข้าวมากินกัน แต่เด็กกลุ่มนี้ไม่มีแม้กระทั่งคนที่เขาให้คิดถึง ไม่มีแม้กระทั่งใครสักคนให้โทรหา ก็เลยคิดว่าถ้าเราหาบุคคลภายนอกที่เขามีความพร้อม ที่จะมาดูแลมาเติมเต็มสิ่งที่เขาขาดไปได้ เด็กกลุ่มนี้ก็คงจะได้รับในสิ่งที่เขาโหยหามากขึ้น” แม่เว้วกล่าว

ปัจจุบัน “โครงการพ่อแม่อุปถัมภ์” มีเด็กที่เข้าร่วมโครงการ 40 คน โดยมีเด็กเล็กตั้งแต่ชั้น ป.1 ที่อายุเพียง 6 ขวบไปจนถึง ม.6 และมีพ่อแม่อุปถัมภ์ที่มีจิตอาสารับเด็กไปดูแลหลายครอบครัว บ้างก็เข้ามาช่วยดูแลเด็กนามขององค์กรอย่างเช่น “สมาคมสวัสดิการผู้สูงอายุจังหวัดสตูล” โดย “พ่อแม่อุปถัมภ์” จะเข้ามาให้ความรักความอบอุ่นกับเด็กๆ ในส่วนที่ทางโรงเรียนไม่สามารถให้ได้ ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันในช่วงที่โรงเรียนมีงานต่าง หรือพาออกไปเที่ยว ออกไปรู้จักสังคมภายนอก ไปเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัว เพื่อปลูกฝังสร้างทักษะชีวิต

นายมะหนับ หมัดตาหมีน รองอุปนายกสมาคมสวัสดิการผู้สูงอายุจังหวัดสตูล หรือ “ป๊ะมะหนับ” ของเด็กด้อยโอกาส เล่าให้ฟังว่า ทางสมาคมฯ ได้มาเข้าร่วมโครงการพ่อแม่อุปถัมภ์โดยรับดูแลเด็กรวมทั้งสิ้น 20 คน โดยสมาชิกของสมาคมฯ จะเข้ามาเยี่ยมเยียนเด็กๆ เดือนละ 2 ครั้ง ทั้งมามอบเงินให้กับเด็กๆ สำหรับไว้ซื้อขนม และมารับออกไปเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ ตามโอกาส

“เราจะดูแลเด็กเป็นกลุ่มเล็กๆ ทำให้สามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิด และดูแลเหมือนลูกเหมือนหลาน สิ่งที่เห็นก็คือเด็กๆ มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น มีมารยาท มีวินัยในตนเอง พูดจาก็มีหางเสียงมากขึ้น ที่สำคัญเด็กก็ยังได้พบปะกับพ่อแม่อุปถัมภ์ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ เด็กได้รับประสบการณ์ที่หลากหลาย ทำให้พฤติกรรมเด็กเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น” ป๊ะมะหนับกล่าว

นายประโมทย์ สังหาญ หรือ “พ่อโมทย์” เลขานุการสมาคมสวัสดิการผู้สูงอายุจังหวัดสตูล กล่าวเสริมว่า นอกจากจะพาไปเที่ยวไปเปิดหูเปิดตาดูโลกกว้างภายนอก เพื่อให้เขาได้เกิดเรียนรู้ว่าสังคมภายนอกนั้นเป็นอยู่อย่างไร ผู้ใหญ่ใจดีในสมาคมฯ ยังจะมาช่วยกันเติมเต็มในสิ่งที่ขาดหายไปให้กับเด็กโดยมาเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครองในเทศกาลหรืองานสำคัญต่างๆ

“การที่มีผู้ปกครองหลากหลาย ส่งผลดีกับเด็กเพราะจะทำให้เขาได้รับประสบการณ์จากพ่อแม่อุปถัมภ์มากมาย อย่างน้อยที่สุดแค่การมีพ่อหรือแม่เท่านี้ก็เป็นสิ่งที่เกินคุ้มแล้วสำหรับเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งเราไม่ได้คาดหวังอะไรในตัวเขามาก แค่ขอให้เขาเป็นคนดีในสังคมเท่านั้นก็พอแล้ว” พ่อโมทย์ระบุ

เพราะเด็กที่มาเรียนในโรงเรียนแห่งนี้นอกจากจะเป็นเด็กที่มีฐานะยากจนแล้ว อีกส่วนหนึ่งเป็นเด็กที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ ทั้งปัญหาความก้าวร้าวรุนแรงหรือแม้กระทั่งยาเสพติด โดยมีต้นเหตุมาจากปัญหาครอบครัวเป็นหลัก เมื่อทางโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ฯ รับเด็กกลุ่มนี้กลับเข้ามาสู่ในระบบ บางส่วนก็มักจะมีปัญหากับการเรียนในห้องเรียนตามปกติ ทางคณะครูจึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการ “ห้องเรียนทางเลือก” สร้างแหล่งเรียนรู้ด้านอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงไก่ ปลูกผัก ทำอิฐบล็อก ฯลฯ เพื่อให้เขาได้มีทางออกของการเรียนรู้ตามความถนัดของแต่ละคน

“นาวสาวมาณี ฉัตรชัยวงศ์” ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 เล่าถึงโครงการห้องเรียนทางเลือก ว่าเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาในการเรียน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องออกกลางคัน โดยมีรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นในเรื่องของทักษะวิชาชีพเพื่อการเทียบโอนเป็นหลัก

“ปัจจุบันมีเด็กที่เข้าโครงการ 25 คน โดยเด็กในห้องเรียนทางเลือกจะไม่ได้เรียนรวมกับเด็กปกติ แต่ก็มีบางส่วนที่สามารถกลับเข้าเรียนร่วมกับเพื่อนๆ ได้ เด็กกลุ่มนี้เราไมได้มุ่งเน้นในเรื่องทักษะวิชาการ แต่มีเป้าหมายให้เขามีทักษะในการประกอบอาชีพเมื่อจบการศึกษาออกไป” ผอ.มาณีกล่าว

“นายเจษฎวัฒน์ แกล้วทะนง” หรือ “พ่อต้อม” เจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่ ที่มีจิตอาสาและเห็นคุณค่าภายในตัวของเด็กที่มีปัญหา โดยเปิดพื้นที่ภายในฟาร์มให้เป็นห้องเรียนกล่าวว่า เด็กกลุ่มนี้ไม่ใช่เด็กดื้อหรือเด็กไม่ดี แต่ปัญหาเกิดขึ้นมาจากครอบครัว ดังนั้นการให้โอกาสกับเขาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

“ที่สำคัญในการทำงานเรายังสามารถปลูกฝังจิตสำนึกที่สำคัญ 2 ด้านให้กับเด็กกลุ่มนี้ได้ก็คือการรู้จักหน้าที่ และรู้จักความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตต่อไปในอนาคต” พ่อต้อมระบุ

“เด็กกลุ่มนี้เขาอยู่ในสังคมเหมือนกับเขาโดนกระแทก บางคนอาจจะบุบสลาย บางคนก็อาจจะช้ำใน เป็นผลให้เขาเกิดพฤติกรรมบางอย่างที่สังคมไม่ยอมรับ จริงๆ แล้วถ้าเราหันกลับไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา ทำยังไงที่จะรักษา หากิจกรรม หรือแนวทางที่จะเยียวยา เขาก็สามารถที่จะกลับไปเป็นคนที่มีคุณภาพ กลับไปเป็นพลเมืองที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมประเทศชาติได้อีกมากมาย แต่ถ้าทุกคนในสังคมเห็นแต่สิ่งที่ไม่ดี เห็นสิ่งผิวเผินภายนอก แล้วละทิ้ง ตัดเขาออกไป เขาก็จะยิ่งบอบช้ำ แล้วก็จะกลับมาเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมของสังคม” ครูประดิพัตร ช้างขาว ว่าที่ครูสอนดีสรุป.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ