โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 26 จังหวัดลำพูน เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่เป็นชนเผ่าต่างๆ หรือเด็กที่ครอบครัวมีฐานะยากจน โดยเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 เนื่องจากเป็นโรงเรียนแบบกิน-นอน อีกทั้งเด็กๆ ก็ขาดแคลนทุนทรัพย์ โลกทัศน์ในการเรียนรู้ของพวกเขาจึงถูกจำกัดอยู่แค่ภายในรั้วของโรงเรียน
“ครูชัยวัฒน์ สิงห์นนท์” หรือ “ครูป๋อง” ของเด็กๆ ว่าที่ “ครูสอนดี” จากโครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจผลักดันการเรียนการสอนด้านไอที จนโรงเรียนแห่งนี้ได้รับการคัดเลือกเป็นต้นแบบในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนการเรียนการสอน เพื่อลดช่องว่างของการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่จะไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ภายในรั้วของโรงเรียนอีกต่อไป
“เพราะต้นทุนของเด็กที่นี่เป็นเด็กด้อยโอกาส บางคนมาพูดภาษาไทยได้ที่นี่ เพราะฉะนั้นในเรื่องของภาษาอังกฤษของคอมพิวเตอร์ก็ต้องมาเรียนที่นี่ ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนเราต้องทำให้เขาเกิดความรู้สึกอยากจะเรียนและเราก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของเขาในเรื่องเทคโนโลยี” ครูชัยวัฒน์กล่าว
แม้ว่าจะเรียนจบมาทางด้านสัตวบาล แต่เพราะความสนใจด้าน “ไอที” ทำให้คุณครูหนุ่มผู้นี้ขวนขวายศึกษาหาความรู้ด้านไอทีจนเชี่ยวชาญชนิดที่หาตัวจับได้ยาก ทำให้ “ครูป๋อง” เป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ หลายคนที่ต้องการเรียนรู้ด้านไอทีเทคโนโลยี ส่งผลให้ลูกศิษย์หลายรุ่นคว้ารางวัลในการแข่งขันทักษะวิชาการ และการประกวดโครงการด้านไอทีระดับประเทศมานับไม่ถ้วน
“ถึงจบด้านสัตวบาลมา แต่เราก็สามารถมาเรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยีเองได้ ผมก็เลยสอนเด็กๆ ว่าถ้าคุณมีใจรัก และมีความสนใจ คุณไม่จำเป็นที่จะต้องมีต้นทุนเหมือนคนอื่น” ครูป๋องระบุ
นอกจากทุ่มเทการเรียนการสอนด้านไอทีให้กับเด็กๆ ทั้งในและนอกเวลาเรียน “ครูชัยวัฒน์” ยังผลักดันให้เกิดระบบ “3G” ขึ้นภายในโรงเรียนแห่งนี้ เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนของคุณครู และเปิดโลกกว้างแห่งการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ โดยเทคโนโลยี 3G ที่นี่ประกอบไปด้วย Good Technology, Good Internet และ Good Teacher
โดย G ตัวแรกนั้นหมายถึง “เทคโนโลยี” เพราะโรงเรียนแห่งนี้มีเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอนมากกว่า 100 เครื่อง มีห้องเรียนคอมพิวเตอร์ 3 ห้อง มีห้อง E-Learning สำหรับการค้นคว้าทางอินเตอร์เน็ต มีห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมให้บริการอินเตอร์เน็ตอีก 20 เครื่อง พร้อมระบบโสตทัศนูปกรณ์ที่ทันสมัยอย่างครบครัน
ส่วน G ตัวที่สองหมายถึง “ความเร็วของอินเตอร์เน็ตแบบไฮสปีด” โดยส่งสัญญาณ Wi-Fi ผ่าน Access point กระจายครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 140 ไร่ของโรงเรียน เพื่อให้ครูและนักเรียนได้ใช้อินเตอร์เน็ตได้ตลอด 24 ชั่วโมง และ G ตัวสุดท้ายก็คือ “ครู” ซึ่งจะเป็นผู้นำระบบไอซีทีมาใช้ โดยครูทุกคนจะมีคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ซึ่งจะทำให้การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม และมีการอบรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ เพื่อให้สมกับการเป็นครูในยุคไอทีทุกคน
ซึ่งทั้งหมดนี้ “ครูป๋อง” บอกว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะพัฒนาโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 26 ให้ก้าวไปสู่ยุค 4G หรือเกิดเป็น Good School ที่จะสามารถเติมเต็มความรู้และพัฒนาศักยภาพของเด็กด้อยโอกาสในโรงเรียนแห่งนี้ให้มีความทัดเทียมกับเด็กไทยคนอื่นๆ
“ในเมื่อเขาก็เหมือนกับเด็กอื่นๆ ทั่วไป ถึงแม้เขาจะเป็นเด็กด้อยโอกาส ถึงแม้จะยากจน ถึงแม้เขาจะเป็นชนเผ่า แต่ถ้าอยู่ในโรงเรียนประจำ จะให้เขาไปค้นคว้าเหมือนกับเด็กในเมืองใหญ่ๆ โอกาสไม่มีอยู่แล้ว เพราะเด็กต้องกินนอนในโรงเรียน เพราะฉะนั้นเราต้องมีระบบอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ที่ค่อนข้างจะพร้อมให้เขาศึกษาค้นคว้า เพื่อให้ลดช่องว่างระหว่างเด็กในเมืองและเด็กชนบทน้อยที่สุดเพราะถ้าเรามีอินเตอร์เน็ตโอกาสก็เท่ากันไม่ว่าคุณจะอยู่กรุงเทพฯ หรือว่าลำพูน” ครูป๋องกล่าว
นอกจากนี้ “ครูป๋อง” ยังมีความฝันและความตั้งใจไว้ว่าถ้าหากได้รับ “ทุนครูสอนดี” ก็จะนำทุนเหล่านี้มาจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คเพิ่มเติมให้กับเด็กๆ เพื่อให้เขาสามารถยืมไปใช้ในเรือนนอน หรือนำไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ ของโรงเรียนได้เหมือนกับการยืมหนังสือในห้องสมุด เพื่อให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ภายในรั้วโรงเรียนโดยไม่มีข้อจำกัด
“ผมจะซื้อหนังสือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เข้าไปในห้องคอมพิวเตอร์แยกต่างหากจากห้องสมุด และสามารถยืมได้เหมือนห้องสมุด เพราะว่าหนังสือคอมพิวเตอร์ 2 ปี ก็ตกรุ่นแล้ว อยากให้เขาศึกษาเรียนรู้เพราะการที่เรามีหนังสือดีๆ มันดีกว่าเราไปเสียเงินเรียนโรงเรียนเอกชนเสียอีก แล้วจะจัดอบรมความรู้ด้านไอทีหรือโปรแกรมใหม่ ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ทุกคน เพราะว่าเขาอยู่กับเรา 24 ชั่วโมง เราจะจัดให้เขาในวันเสาร์อาทิตย์ พอเด็กมีความรู้ความสนใจพอสมควรแล้วจะขยายผลทั้งเด็กตำบลเข้ามาเรียนในเสาร์อาทิตย์ โดยเปิดห้องคอมพิวเตอร์และอบรมให้เด็กเหล่านั้นให้เขามีความรู้ด้านไอซีทีมากขึ้นเพื่อเป็นพื้นฐานในการเข้าเรียนระดับที่สูงขึ้น” ครูป๋องกล่าว
ทุกวันนี้ “ครูชัยวัฒน์” ยังคงมุ่งมั่นกับการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ เพื่อเติมเต็มความรู้ด้านไอทีเทคโนโลยีให้กับเด็กๆ แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังทุ่มเทเอาใส่ใจกับสอนวิชา “ลูกเสือ” เพราะเชื่อมั่นว่าเป็นหลักพื้นฐานที่สำคัญในการทำให้เด็กทุกคนเป็นคนดี
“ถ้าคุณทำตามกฎของลูกเสือให้ได้ทั้ง 10 ข้อก็เป็นคนดีแล้ว เพราะกฎทั้งหมดนั้นเป็นหลักพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงชีวิตเพื่อให้เขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ดังนั้นวิชาลูกเสือก็คือวิชาที่สร้างคนให้เป็นคนดี ส่วนวิชาไอทีนั้นจะช่วยสอนให้เด็กมีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น และลดช่องว่างของการเรียนรู่ระหว่างเด็กในเมืองและเด็กด้อยโอกาส” ครูป๋องสรุป.