พม. เปิดงานสมัชชาขบวนเครือข่ายผู้หญิงไทยปฏิรูปชุมชนท้องถิ่น “พลังผู้หญิงไทยกับการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน"

จันทร์ ๒๘ พฤษภาคม ๒๐๑๒ ๑๔:๔๕
นางสาวอนุตตมา อมรวิวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมปาฐกถาพิเศษ งานสมัชชาขบวนเครือข่ายผู้หญิงไทยปฏิรูปชุมชนท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด “พลังผู้หญิงไทยกับการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน”ณ โรงแรมรามาการ์เด้น ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ

นางสาวอนุตตมา อมรวิวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น ๖๓,๘๗๘,๒๖๗ คน เป็นผู้ชาย ๓๑,๔๕๑,๘๐๑ คน เป็นผู้หญิง ๓๒,๔๖๒,๔๖๖ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๐.๙ ของประชากรของประเทศ ซึ่งถือว่าผู้หญิงและผู้ชายมีจำนวนที่ใกล้เคียงกัน แต่หากมองภาพของการเป็นตัวแทนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง กลับพบว่าผู้หญิงมีโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาน้อยกว่าผู้ชาย อันเนื่องจากความคิดความเชื่อดั้งเดิมของคนในสังคม ที่เห็นว่าอะไรเหมาะสมกับหญิง อะไรเหมาะสมกับชาย เช่น ผู้หญิงเป็นแม่บ้านแม่เรือน ดูแลผู้ป่วย คนชราได้ดีกว่า ผู้ชายทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกลได้ดีกว่า เป็นต้น นำไปสู่ความเชื่อที่ว่าบทบาทเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทำให้มีการจำกัดโอกาสการพัฒนาศักยภาพของทั้งหญิงและชาย มีการกีดกัน มีอคติ และนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ ที่ไม่เป็นธรรมทางเพศ เห็นได้จากอาชีพหรือการเรียนบางสาขายังรับเฉพาะเพศใดเพศหนึ่ง และด้วยการขัดเกลาของสังคมทำให้ผู้หญิงและผู้ชายไม่กล้าออกนอกกรอบบรรทัดฐานของสังคม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของผู้หญิง ทั้งนี้ ผู้ที่มีส่วนในการแก้ไขปัญหา คือ ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ยังขาดความเข้าใจในเรื่องของการพัฒนาที่แท้จริง เนื่องจากผู้กำหนดนโยบายไม่ตระหนักว่านโยบายและโครงการพัฒนาบางอย่างมีผลกระทบต่อผู้หญิงและผู้ชายแตกต่างกันและไม่เท่าเทียมกัน จึงทำให้โอกาสของผู้หญิงที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาน้อยกว่าผู้ชาย ดังจะเห็นได้จากข้อมูลประชากรในวัยทำงานที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป มีจำนวนทั้งสิ้น ๕๒.๗ ล้านคน เป็นประชากรหญิง ๒๗.๑ ล้านคน และประชากรชาย ๒๕.๖ ล้านคน แต่ประชากรหญิงที่อยู่ในวัยทำงานมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานจำนวน ๑๗.๖ ล้านคน ประชากรชายมีกำลังแรงงานจำนวน ๒๐.๙ ล้านคน ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนกำลังแรงงานของประชากรหญิงกับจำนวนประชากรหญิงวัยแรงงานพบว่าน้อยกว่าประชากรชาย เนื่องจากกำลังแรงงานส่วนหนึ่งของประชากรหญิงประมาณ ๔.๔ ล้านคน เป็นแม่บ้านดูแลครอบครัว นอกจากนี้แรงงานผู้หญิงส่วนใหญ่ เป็นแรงงานไร้ฝีมือ จึงไม่มีโอกาสที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้บริหาร แม้ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง แต่คณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย มีรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงเพียง ๒ คน เท่านั้น ซึ่งโดยหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ประชาชนทุกคน มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน ในการตัดสินใจ เมื่อสังคมมีผู้หญิงเป็นองค์ประกอบครึ่งหนึ่ง ผู้หญิงจึงควรเป็นตัวแทนของประชาชนตามสัดส่วนด้วย เนื่องจาก ความต้องการของผู้หญิงและผู้ชายแตกต่างกัน ปัญหาของผู้หญิงและผู้ชายแตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ที่กำหนดนโยบายจึงควรมีผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เพื่อให้เกิดความสมดุลของการพัฒนาและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้หญิงและของผู้ชายได้อย่างแท้จริง

นางสาวอนุตตมา กล่าวต่อว่า ผู้หญิงไทยทุกคนต้องลุกขึ้นมามีบทบาทในการพัฒนาประเทศมากขึ้น โดยเริ่มจากครอบครัว และชุมชน เพราะหากครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง ประเทศก็ได้รับการพัฒนาไปด้วย สำหรับปัญหาบางปัญหาหากชุมชนสามารถจัดการตนเองได้ ย่อมดีกว่าการรอภาครัฐเข้ามาจัดการ ตัวอย่างเช่น ชุมชนครูชุบ ยอดแก้ว ครูภูมิปัญญาไทย ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน(การออมทรัพย์) ผู้ริเริ่มแนวคิดเศรษฐศาสตร์ชุมชนหรือเศรษฐศาสตร์พื้นบ้าน โดยนำความคิดรวบยอดจากกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์และสวัสดิการชุมชนมาผนวกกับการใช้การศึกษาเข้ามาเป็นฐานเพื่อการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง เศรษฐศาสตร์ชุมชนก็คือ กลุ่มออมทรัพย์อันเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ของชาวบ้านในเรื่องการจัดการเงินทุนของตนเองและครอบครัว โดยประสานเชื่อมโยงกับสังคมวัฒนธรรม จิตใจ และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน การออมทรัพย์นอกจากทำให้สามารถกอบกู้เศรษฐกิจในครัวเรือนได้แล้ว ยังสามารถนำมาซึ่งการกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศชาติได้อีกด้วย หรือ คุณศิริพร ปัญญาเสน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิชัย ที่มุ่งมั่นพัฒนา อบต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน จนเป็น อบต. ที่ปราศจากปัญหายาเสพติดและความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว โดยใช้งบประมาณของ อบต. ที่มีเพียงน้อยนิด ด้วยความคิดที่ว่า “ถ้าเราลืมสร้างถนน สร้างสะพานปีนี้ ปีหน้าเรายังทำได้ มันยังไม่เสียหายมากมาย แต่ถ้าเราลืมสร้างคนปีนี้ ปีหน้าเราอาจต้องเสียใจไปตลอดชีวิตก็ได้ ฉะนั้นการสร้างคนจึงเป็นเรื่องแรกที่เราคิดถึงมาตลอด” เป็นต้น แต่ยังมีอีกหลายชุมชนที่มีความเข้มแข็ง สามารถยืนอยู่ด้วยลำแข้งของชุมชน โดยไม่พึ่งหน่วยงานภาครัฐและสามารถดูแลคนในชุมชนให้อยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี

อย่างไรก็ตาม “ขบวนเครือข่ายผู้หญิงไทยเป็นกลุ่มผู้หญิงที่ทำงานในระดับชุมชนทั้งในเมืองและชนบท และได้มีการประสานงานทำงานร่วมกันมานานหลายปี ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักแก่ผู้หญิงให้มีความภาคภูมิใจในบทบาทและหน้าที่ของตนเอง เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยเฉพาะปัญหาของสตรี เพื่อทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและเป็นพลังที่สำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป” นางสาวอนุตตมา กล่าว.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕ พ.ย. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เปิดตัว HOP NextGen ชวนนักศึกษาเยี่ยมชม ฮ็อป อินน์ เรียนรู้เทคนิคบริการแบบ Consistency is Yours พร้อมพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่
๑๕ พ.ย. คิง เพาเวอร์ ต้อนรับเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปี เปิดแคมเปญ THE POWER OF FUNTASTIC CELEBRATION 2025 ฉลองทุกความสุข สนุกไม่รู้จบ
๑๕ พ.ย. พันธุ์ไทย ชวนแฟนด้อม คัลแลนและพี่จอง จุ่ม การ์ดพันธุ์ไทยใจฟู ลิมิเต็ด อิดิชั่น
๑๕ พ.ย. BAM ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ DIGITAL ENTERPRISE ตอกย้ำผู้นำ AMC ยุค 4.0 วางเป้าหมายยกระดับองค์กรสร้างโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน เตรียมส่ง อิสระ เดอะซีรีส์ ชวนลูกหนี้ BAM
๑๕ พ.ย. บางจากฯ ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนอันดับสูงสุดของโลก จาก SP Global 2024 ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil Gas Refinery and
๑๔ พ.ย. ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ออกบูธให้ความรู้เรื่องการใช้งานระบบดับเพลิงนร. พระหฤทัยนนทบุรี
๑๒ พ.ย. พนักงานซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล รับรางวัลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานดีเด่น
๑๕ พ.ย. PROSPECT REIT ชูไตรมาส 3/67 โตเกินเป้า อัตราการเช่าพุ่งนิวไฮ หนุนจ่ายปันผลเด่น 0.2160 บาท
๑๕ พ.ย. CHAO ประกาศงบ Q3/67 กำไรพุ่งกว่า 62% รับตลาดส่งออกพีค จีนโตเด่น แย้ม Q4 เดินหน้าบุกตลาดในประเทศ สินค้าใหม่หนุนยอดขายปลายปี
๑๕ พ.ย. ฉลองเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2567 ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ