“จังหวัดสงขลาเป็น 1 ใน 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แม่ฮ่องสอน, หนองบัวลำภู, สุรินทร์, ราชบุรี และสงขลา ที่จะต้องมี กรอบแนวคิดในการกำหนดโครงสร้างกิจกรรมจังหวัดนำร่อง ดังนี้คือ 1.จะไม่ใช่การเพิ่ม “กิจกรรมทางศิลปะ” แต่จะทำอย่างไรให้ศิลปวัฒนธรรมมีบทบาทในชีวิตผู้คน โดยการนำ “ศิลปะ” เข้าไปเปลี่ยนแปลงชุมชน 2.จะมีพื้นที่ที่จะจัดกิจกรรมทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน 3.จัดกิจกรรมหลากหลายอย่างต่อเนื่อง หมุนเวียนกันไป อาทิ กิจกรรมด้านเยาวชน ด้านวิชาการ งานวิจารณ์ศิลปะ ด้านศิลปะมาตรฐาน และด้านศิลปะพื้นถิ่น เป็นต้น 4.ดึงประเด็นที่พื้นที่สนใจขึ้นมาเป็นเนื้อหากิจกรรม (ประสานกับเครือข่ายปฏิรูป 14 คณะ) 5.มีศูนย์เรียนรู้ สร้างความตื่นตัวในการดำเนินกิจกรรม 6.ปูพื้นความคิดด้านภูมิบ้านภูมิเมือง พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในท้องถิ่น อาทิ การประกวดเรื่องเล่าจากคุณตาคุณยาย ภาพเก่าเล่าเรื่อง เป็นต้น 7.ทำความเข้าใจกับ อบจ.ในพื้นที่ถึง “สิ่งที่ควรจะเห็น สิ่งที่ควรจะเป็น และสิ่งที่ควรจะมี” 8.เปิดโจทย์กิจกรรม “อะไรที่ท้องถิ่นยังไม่ได้ทำ” เพื่อให้เกิดการคิดนอกกรอบ 9.มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนส่วนกลางและท้องถิ่น การขยายผล “โครงการ”ให้เป็นที่รู้จัก ว่าศิลปะจะเข้ามาในพื้นที่นั้นอย่างไร เพื่ออะไร 10.กระตุ้นให้คนเห็นความสำคัญของ “สิทธิ” ในการจัดการศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ของตนเอง และ11.การกระตุ้นนโยบายโครงสร้างกลไก ศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน และผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าว
โดยทั้งนี้นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ยังกล่าวต่ออีกว่า การสร้าง “กิจกรรมทางศิลปะ” ให้เข้าไปมีบทบาทนำการเปลี่ยนแปลงสู่ชุมชน อันจะเป็นการดึงประเด็นปัญหาชุมชน สังคม ที่น่าสนใจขึ้นมาเป็นเนื้อหากิจกรรมที่จะสร้างคุณค่าและรสนิยมแก่จังหวัด ให้มีกิจกรรมที่หลากหลายอย่างต่อเนื่องหมุนเวียนกันไป เกิดศูนย์รวมการเรียนรู้สร้างความตื่นตัวตลอดระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรม อีกทั้งยังเป็นการปูพื้นความคิดด้านภูมิบ้านภูมิเมือง พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในท้องถิ่น รวมถึงการเปิดโจทย์ “สิ่งที่ท้องถิ่นต้องการทำ” แบบคิดนอกกรอบจากทุกภาคส่วน นำไปสู่การจัดการให้เกิดอัตลักษณ์ คุณค่าและความยั่งยืน จนไปสู่การเกิดเป็นองค์กรศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชนและกฎหมายเกี่ยวข้องขึ้น
ส่วนนายพีระ ตันติเศรษณี นายกเทศมนตรีเทศบาลนครสงขลา กล่าวว่า การประชุมร่วมคิด ร่วมทำ สร้างสรรค์พื้นที่นำร่องศิลปวัฒนธรรม ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดสงขลาครั้งนี้ นับเป็นการเปิดโอกาสให้ศิลปินในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานทางด้านศิลปวัฒนธรรม โดยเริ่มตั้งแต่การระดมความคิดในการวางแผนการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนการร่วมลงมือทำสู่การปฏิบัติจริง ที่นำไปสู่การถ่ายถอด การขยับเครือข่าย และเชื่อมโยงเครือข่ายกับผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะในโรงเรียนหรือนอกโรงเรียน และตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่จะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ศิลปินได้มีบทบาทเข้ามาช่วยเสริมและสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีความพยามที่จะอนุรักษ์ รักษาศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น อย่าง หนังตะลุง มโนราห์ กวีนิพนธ์ วรรณคดี และอื่นๆ อยู่บ้างแล้วเมื่อมีการรวมตัวกันครั้งนี้ เชื่อได้ว่านี่จะเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญที่จะทำให้ศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นคงอยู่ได้ต่อไป
ด้านนายสถาพร ศรีสัจจัง กรรมการและประธานอนุกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูประดับภูมิภาค (ภาคใต้) กล่าวว่า สงขลาเป็นจังหวัดเก่าแก่ที่มีการสั่งสมศิลปวัฒนธรรมสาขาต่างๆ เอาไว้ทุกด้าน จึงทำให้สงขลาเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอนของระบบการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญมากของภาคใต้ ทั้งยังมีศิลปินแห่งชาติสาขาครบทุกสาขาอย่างศิลปะการแสดง, ทัศนศิลป์ และวรรณศิลป์ แต่ปัญหาที่ศิลปินประสบเหมือนกันก็คือ ขาดพื้นที่ในการเผยแพร่ผลงาน ซึ่งตนเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นเหมือนการเร่งให้ศิลปินได้มีพื้นที่ในการเผยแพร่ เพื่อสืบสานสืบทอดศิลปะทุกสาขาให้ยั่งยืนเป็นรูปธรรมขึ้นได้
ทั้งนี้นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าวต่ออีกว่า การร่วมระดมความคิดเห็นร่วมคิดร่วมทำครั้งนี้มติในที่ประชุมได้คัดเลือก “คณะทำงานระดับจังหวัดขึ้น” โดยจะประกอบไปด้วยศิลปินสาขาวรรณศิลป์ จำนวน 2 คน, สาขาคีตศิลป์ จำนวน 2 คน, สาขาทัศนศิลป์ จำนวน 2 คน และสาขาศิลปะการแสดง จำนวน 2 คน และยังมีการเลือกประธานคณะทำงานขึ้นมาอีก 1 คน นักวิชาการแต่ละสาขา สาขาละ 1 คนรวมเป็น 4 คน นอกจากนี้ที่ประชุมยังเลือกผู้ที่มีความสามารถและเหมาะสมมาเป็นกรรมการและเลขาเพิ่มเติมอีก 1 คน รวมเป็น 14 คน มาเป็นตัวแทนของเครือข่ายศิลปินในพื้นที่ จ. สงขลา ซึ่งหลังจากนี้ทั้งหมดจะร่วมกันระดมสรรพกำลังสร้างแผนกิจกรรมในจังหวัดที่นำร่องให้ต่อเนื่องเป็นแผนกิจกรรมอีก 12 เดือนขึ้นเป็นโครงการต่อเนื่องไปสู่ความยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของศิลปินในพื้นที่ นักทำงาน นักปฏิบัติ นักคิด สถาบันการศึกษา และสภาวัฒนธรรมในพื้นที่ ให้คงอัตลักษณ์พื้นบ้านไว้สืบทอดไปยังคนรุ่นหลังให้ได้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชุมชน และสังคมต่อไป