GUNKUL ควัก 522 ลบ. ร่วมทุน WED รุกผลิตไฟฟ้าพลังงานลม 60 MW มูลค่าโครงการ 4.5 พันล.

พุธ ๓๐ พฤษภาคม ๒๐๑๒ ๑๓:๕๙
บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ปลื้มธุรกิจขยายตัวได้ตามเป้า ล่าสุดทุ่มงบ 522 ล้านบาท เข้าถือหุ้นร้อยละ 70 ในบริษัทพัฒนาพลังงานลม หรือ WED ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมห้วยบง ขนาด 60 เมกกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 4,500 ล้านบาท "โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ "ประเมินมีรายได้จากการขายไฟฟ้าถึง 750 ล้านบาทต่อปี พร้อมระบุการร่วมทุนในครั้งนี้เป็นการเสริมศักยภาพของธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพในอนาคต อันจะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่ดีต่อผู้ถือหุ้น

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด(มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจของบริษัทในปัจจุบัน ถือว่ามีอัตราการเติบโตอยู่ในทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปตามเป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้ โดยยังเน้นขยายการลงทุนในด้านต่างๆ เพื่อทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างครบวงจรและเสริมจุดแข็งให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น โดยล่าสุด GUNKUL ได้เข้าซื้อหุ้นสามัญของ บริษัท พัฒนาพลังงานลม จำกัด (WED) จำนวน 5.46 ล้านหุ้น จาก บริษัท อิมแพค เอนเนอยี่ เอเชีย ลิมิเต็ด (IEA) เพื่อเข้าลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมที่ตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ขนาดกำลังผลิตรวม 60 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 4,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ WED ประกอบธุรกิจพัฒนาและทำกิจการโรงไฟฟ้า เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานลมให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 1 สัญญา กำลังการผลิต 50 เมกกะวัตต์ และจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานลมให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 2 สัญญา กำลังการผลิต 8 เมกกะวัตต์และ 2 เมกกะวัตต์ โดยทั้ง 3 สัญญาได้รับการสนับสนุนค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในอัตรา 3.50 บาท เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยคาดว่าในส่วนของคู่สัญญากับ กฟภ.จำนวน 2 สัญญา จะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จและจำหน่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 2/2556 ส่วนคู่สัญญากับ กฟผ. จำนวน 1 สัญญาจะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพร้อมสายส่งและสถานีย่อยไฟฟ้า และคาดว่าจะสามารถจำหน่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 2/2558 ในเบื้องต้นคาดว่า GUNKUL จะมีรายได้จากการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. และ กฟภ. กำลังการผลิตรวม 60 เมกกะวัตต์นี้ ประมาณ 750 ล้านบาทต่อปี

แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวต่อว่า จากความมุ่งมั่นในการทำงานของทีมผู้บริหารและพนักงานของบริษัท รวมถึงปริมาณงานที่เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 26 เมกกะวัตต์ จากบริษัท จี-พาวเวอร์ ซอร์ซ จำกัด (GPS) และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 30.9 เมกกะวัตต์ ของ บริษัท กันกุล พาวเวอร์เจน จำกัด ส่งผลทำให้ประกอบการงวดไตรมาส 1/2555 สิ้นสุด วันที่ 31 มีนาคม 2555 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 395.28 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 57.90 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 337.38 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวถึงร้อยละ 582.69

ขณะที่รายได้รวมของกลุ่มบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1,388.63 ล้านบาท จากงวดเดียวกันกับปีก่อนซึ่งมีรายได้รวมจำนวน 470.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 918.14 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 195.10 ทั้งนี้มีการรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจากการรับเหมางานก่อสร้างจำนวน 488.75 ล้านบาท รายได้จากการจำหน่ายเงินลงทุนใน บริษัท จี-พาวเวอร์ ซอร์ซ จำกัด จำนวน 416.22 ล้านบาท (รวมผลกำไรส่วนที่เกิดจากการรับรู้มูลค่าเงินลงทุนในบริษัทดังกล่าวด้วยมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่โอนจำหน่ายเงินลงทุนให้กับผู้ร่วมทุนและขาดซึ่งอำนาจในการควบคุม จำนวน 97.01 ล้านบาทแล้ว)

“ความต้องการในอุตสาหกรรมระบบไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศยังขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสแรก อันจะส่งผลดีต่อธุรกิจของบริษัทด้วย ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (Backlog) อยู่ที่ประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท ยังไม่รวมโครงการที่ยื่นประมูลแล้วและเตรียมยื่นอีกกว่า 3,000 ล้านบาทในปีนี้ ดังนั้นจึงคาดว่าปี 2555 ผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทจะเติบโตตามเป้าที่วางไว้ โดยไม่น้อยกว่า 60% จากปีก่อน” นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง กล่าวในที่สุด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ