“รมช.ภูมิ”เผยหนุนเต็มสูบเข็นเป้าส่งออกโต 15 % ชี้ทางออกหาพันธมิตร เจาะตลาดใหม่ เปิดโครงการครึ่งปีหลังดันSME-รากฐานสู่AECและสากล

อังคาร ๐๕ มิถุนายน ๒๐๑๒ ๑๒:๑๔
“รมช.ภูมิ”เผยหนุนเต็มสูบเข็นเป้าส่งออกโต 15 % ชี้ทางออกหาพันธมิตร เจาะตลาดใหม่ เปิดโครงการครึ่งปีหลังดันSME-รากฐานสู่AECและสากล ที่ปรึกษาฯเยอรมันเล็งไทยทำฐานผลิตเกษตรศักยภาพสูง ดัน 3 หน่วยงานผนึกกำลังสร้างระบบเกษตรครบวงจร เชียร์ไทยติดเครื่องหมาย”แฟร์เทรด”

นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการส่งออกรายงานผลการประชุมทูตพาณิชย์ หรือหัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ 65 แห่งทั่วโลกว่า ทูตพาณิชย์รับทราบนโยบายเพื่อจะเร่งผลักดันการส่งออกให้ได้ตามเป้าหมาย 15% หรือ 2.63 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเน้นให้ส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออกสินค้าและบริการ การสร้างเครือข่ายพันธมิตร การหาตลาดใหม่ และการหาตลาดใหม่ในตลาดเดิม เป็นต้น ซึ่งในช่วง 8 เดือนนับจากเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ต้องเร่งทำการค้าให้ขยายตัวเฉลี่ยเดือนละ 20% หรือ ส่งออกเฉลี่ยราวเดือนละ 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

“กรมฯได้ไม่นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ยุโรป ซึ่งส่งสัญญามาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยบรรจุไว้ในกลยุทธ์ของกรมฯทั้งการจัดฝึกอบรมและพัฒนา นอกจากนี้ผู้ประกอบการของไทยต้องกำหนดแผนงานบุกเจาะตลาดอย่างรัดกุม และต้องมีแผนพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าไทยควบคู่กันไปด้วย ซึ่งในปีนี้มีถึงกว่า 10 โครงการหลักโดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการของไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันยอดการส่งออกให้เพิ่มมากขึ้น”นายภูมิ กล่าว

ทั้งนี้ทูตพาณิชย์จะกลับไปปรับปรุงแผนงาน เพื่อหาวิธีการ หรือ ลู่ทางการค้าใหม่ๆ ในการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น ฮาลาลออร์แกนิค รักสุขภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น หรือ เจาะตลาดเป็นรายประเทศ ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรก(ม.ค.-เม.ย.55) ของปีนี้มีศักยภาพขยายตัวเป็นที่น่าพอใจ เช่น อาเซียน ขยายตัว 8.6% คิดเป็นมูลค่า 18,359 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จีน 4.9% มูลค่า 8,550 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ละตินอเมริกา 14.3% มูลค่า 2,450 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แอฟริกา 8.4% มูลค่า 2,407 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อินเดีย 2.5% มูลค่า 1,779 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เกาหลีใต้ 4.5% มูลค่า 1,615 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นต้น

สำหรับโครงการสำคัญที่จะเร่งดำเนินการ อาทิ การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเพื่อการส่งออก ด้วยการคัดเลือกนักออกแบบแฟชั่น 40 แบรนด์ไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพการออกแบบและการสร้างแบรนด์ไทยสู่เวทีสากล การพัฒนาและสร้างสินค้าโอท็อปสู่ตลาดโลก( 77 สินค้าจากรากหญ้าสู่สากล) การลดต้นทุนโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการแต่ละปีไม่น้อยกว่า 1% ของจีดีพีใน 5 ปี(2555-2559) หรือ 0.2% ของจีดีพี หรือ คิดเป็นมูลค่า 18,000 ล้านบาทต่อปี การเจาะตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) การส่งเสริมการขยายตลาดและการไปดำเนินธุรกิจในเออีซี เช่น จัดงานแสดงสินค้าไทยแลนด์เทรดโชว์ เป็นต้น

นายโฟลเกอร์สเตปป์เลอ ที่ปรึกษาการพาณิชย์จากสถานทูตเยอรมัน ประจำประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ในยุโรปว่า จากการประเมินสถานการณ์ของกรีซ เชื่อว่ายุโรปจะไม่ปล่อยให้กรีซล้ม หรือ ออกจากสมาชิกยูโรโซน เพราะหากเป็นเช่นนั้น จะสร้างปัญหาต่อเนื่องและยาวนาน รวมถึงมีผลกระทบกับเศรษฐกิจภาพรวมของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนับจากนี้เชื่อว่า สถานการณ์ยังทรงตัวต่อไป 1-3 ปี กรีซและประเทศต่างๆ ในยุโรปจะรัดเข็มขัด ซึ่งทางออกสำหรับการค้าไทยกับยุโรป ต้องเจาะตลาดผู้บริโภคระดับกลางขึ้นไปที่มีรายได้ต่อเนื่อง มีเงินออมสูง หรือ มีระบบเศรษฐกิจแข็งแกร่งอาทิ เยอรมัน ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น

“ผมมีภารกิจจากรัฐบาลเยอรมัน ให้มาสำรวจตลาดในเอเชีย โดยมีวาระ 3 ปี ซึ่งได้เริ่มต้นทำงานในประเทศไทยในลำดับแรก เพราะเห็นว่าไทยมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ ประชากรมีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านการเกษตร และเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สมบูรณ์ ที่สามารถผลักดันให้เป็นครัวของโลกได้ โดยเฉพาะถ้าเน้นที่จะพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ในเชิงคุณภาพ อาทิ สินค้าออร์แกนิกที่ต้องพัฒนาให้เต็มรูปแบบอย่างจริงจัง เพื่อให้ได้รับการยอมรับตามคุณภาพและมาตรฐานที่วางไว้ ซึ่งจะสามารถจำหน่ายให้ผู้บริโภคทั่วยุโรปได้ไม่ยาก”นายสเตปป์เลอ กล่าวและว่า รัฐบาลเยอรมันต้องการทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยราชการของไทย โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แลกเปลี่ยนบุคลากร งานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางการผลิตให้ก้าวหน้าแบบครบวงจรในลำดับต่อไป

สำหรับนโยบาย”ครัวไทยสู่ครัวโลก” ควรดำเนินการพร้อมๆ กับการผลักดันให้ไทยผลิตสินค้าเกษตรแบบอาหารปลอดภัย(ฟู้ดเซฟตี้) รวมถึงควรประกาศเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ เริ่มด้วยวิธีง่ายๆ จากการมีเครื่องหมายมาตรฐานรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรของไทย เช่น เครื่องหมาย”แฟร์เทรด” เป็นต้น ซึ่งจะมีผลในทางปฏิบัติอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ที่ผ่านมาเครื่องหมายแฟร์เทรดเป็นเครื่องหมายที่ได้รับการยอมรับของยุโรปและเอเซีย ซึ่งในไทยมีสินค้าจำนวนน้อยรายการที่ได้รับเครื่องหมายนี้ เช่น ข้าว และกำลังดำเนินการในผลไม้ สับปะรด และมะม่วง เป็นต้น

“แฟร์เทรด เป็นระบบการค้าที่สร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้บริโภค ตลอดจนแรงงานที่อยู่ในระบบกล่าวคือ การผลิตสินค้าเกษตรต้องได้คุณภาพมาตรฐานโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของเกษตรกร รวมถึงผู้บริโภคเป็นหลักควบคู่กับการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างความเป็นธรรมให้กับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคโดยเกษตรกรต้องจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม คือ ไม่ต่ำกว่าต้นทุนและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดต้องไม่กีดกันเรื่องเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ในขณะที่ผู้บริโภคก็จะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม

ที่สำคัญระบบแฟร์เทรด นอกจากผู้ผลิตจะได้รับเงินจากค่าสินค้าที่เป็นธรรมแล้ว ยังมีเงินพรีเมียม หรือเงินสนับสนุนพิเศษเพิ่มเติมจากผู้ซื้อสินค้าในระบบดังกล่าวอีกจำนวน 10% จากราคาสินค้า ซึ่งเงินดังกล่าวจะนำกลับมาพัฒนาความเป็นอยู่ของสมาชิกกลุ่ม เป็นเงินทุนในการพัฒนาขบวนการผลิตพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของกลุ่ม ตลอดจนนำมาเป็นเงินในการช่วยเหลือหรือตอบแทนกลับไปยังสังคมอีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ