นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมจัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๔๖ เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการสังคมตามกฏหมายว่าด้วยการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมโดยมีองค์การสวัสดิการสังคม ได้ดำเนินงานตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ มีการดำเนินงาน ๒ รูปแบบ คือ รูปแบบแรก เป็นการดำเนินงานกองทุนในระบบปกติ มีคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมและคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรอง รูปแบบที่สอง เป็นการดำเนินงานกองทุนในระบบการกระจายกองทุนไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นตามนโยบายของคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ โดยในปี ๒๕๔๘-๒๕๕๔ กองทุนได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งสิ้น ๗๗๐ ล้านบาท มีองค์การสวัสดิการสังคมได้รับการสนับสนุนในการดำเนินโครงการด้านการจัดสวัสดิการสังคมทั้งสิ้น ๕,๕๒๙ องค์กร ๕,๙๔๐ โครงการ จำนวนเงินที่อนุมัติ ๖๙๒.๙ ล้านบาท องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้สมทบงบประมาณการดำเนินโครงการในระบบกระจายทั้งสิ้น ๖๗.๘ ล้านบาท สำหรับปี ๒๕๕๔ ได้มีการสนับสนุนโครงการเชิงประเด็นที่สนับสนุนการจัดสวัสดการในภาพรวมของประเทศในประเด็นเรื่อง การพัฒนางานอาสาสมัคร ทั้งนี้ในปี ๒๕๕๕ กองทุนฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลทั้งสิ้น ๙๐ ล้านบาท โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ได้ดำเนินการรวบรวม และจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการระบบปกติ เป็นเงิน ๒๕,๙๒๐,๐๐๐ บาท ระบบกระจายเป็นเงิน ๗๒,๘๕๐,๐๐๐ บาท โดยให้กรอบวงเงินในการสนับสนุนโครงการเชิงประเด็นภาพรวมของประเทศจำนวน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท
นายวิเชียร กล่าวต่อว่า กระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญในการดำเนินงานของกองทุนฯเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในระบบการกระจายกองทุนสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นที่คณะกรรมการบริหารกองทุนได้กระจายอำนาจให้คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมจังหวัด ได้ดำเนินการไปแล้วนั้น มีความสอดคล้องกับกระแสการบริหารงานสมัยใหม่ สิ่งนี้จะช่วยให้การดำเนินงานกองทุนสามารถดำเนินการได้อย่างกว้างขวาง ทั่วถึง เกิดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งนี้ กองทุน ฯ ได้มีการสนับสนุนงบประมาณให้จังหวัดดำเนินกิจกรรมระดมทุน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนกองทุนในระดับจังหวัดได้ด้วยตัวเองต่อไปในอนาคต และมีการทดลองดำเนินการระดมทุนปีนี้ ๔ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ อุบลราชธานี สุรินทร์ และศรีสะเกษ โดยสนับสนุนงบประมาณให้จังหวัดละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท
“ในการดำเนินงานดังกล่าว ได้สอดคล้องกับกระแสสังคมโลก และเป็นที่น่ายินดีที่เรื่องดังกล่าวได้รับการยอมรับจากหน่วยงานสหประชาชาติ ดังนั้นกระทรวงฯ จะมีการลงนามในแผนปฏิบัติการตามกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนระหว่างไทยกับสหประชาชาติ ปี ค.ศ. ๒๐๑๒ — ๒๐๑๖ ในวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวให้ประสบผลสำเร็จ และการดำเนินงานกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม มีส่วนช่วยเสริมการดำเนินงานของฝ่ายไทยเพื่อให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ต่อไป” นายวิเชียร กล่าว.