กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้(27 ก.ค. 48) เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานเขตพระนคร ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดศูนย์ส่งเสริมการบริหารเงินออมครอบครัว สำนักงานเขตพระนคร โดยมีนายนพดล สะวิคามิน นางนินนาท ชลิตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล และผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ร่วมพิธี
ศูนย์ส่งเสริมการบริหารเงินออมครอบครัวจัดตั้งขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ธนาคารออมสิน สมาคมประกันชีวิตไทย และสถานธนานุบาลกทม. ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความพร้อมด้านบุคลากร เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชนอันเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มผู้มีรายน้อยถึงปานกลาง รู้จักใช้เงินเป็น บริหารเงินได้ มีเงินเหลือเก็บออมเพื่อสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว โดยกทม.มีเป้าหมายจะจัดตั้งศูนย์ฯดังกล่าวขึ้น ณ สำนักงานเขต 12 เขต เป็นโครงการนำร่อง กระจายในพื้นที่ 12 กลุ่มโซน เพื่อให้ประชาชนในเขตต่างๆ ใช้บริการ ปัจจุบันกรุงเทพมานครได้เปิดศูนย์เงินออมฯ แล้วที่สำนักงานเขตพญาไท หลักสี่ สาทร พระโขนง ลาดกระบัง บางบอน และพระนคร ในอนาคตกรุงเทพมหานครจะเปิดศูนย์ดังกล่าวที่สำนักงานเขตต่างๆ ได้แก่ บางพลัด ภาษีเจริญ บางกะปิ คลองสามวา และบางแค
ทั้งนี้ศูนย์ส่งเสริมการบริหารเงินออมครอบครัว ได้จัดบริการตรวจสุขภาพ ทางการเงิน ในรูปแบบสมุดฉีก และแผ่นพับ ซึ่งมีต้นขั้วเก็บข้อมูลรายละเอียดให้ประชาชนกรอกเพื่อตรวจสอบสถานะทางการเงินของตนในเบื้องต้นว่าเป็นอย่างไร มีรายได้พอใช้ หรือเหลือเก็บหรือไม่ การบริหารเงินเหมาะสมแล้วหรือไม่ เป็นต้น เพื่อนำมาวิเคราะห์ผล และรับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักเก็บออม โดยต้องเริ่มดำเนินการนับตั้งแต่บัดนี้หรือตั้งแต่วัยทำงานเป็นต้นไป เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในอนาคตข้างหน้า อย่างไรก็ดีในสภาวะกาลปัจจุบันการออมเงินโดยการฝากธนาคารอาจไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนที่คุ้มค่า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในปัจจุบันต่ำมาก ท่านที่ต้องการความมั่นคงทางด้านการเงินในอนาคตสามารถขอรับคำปรึกษาที่ศูนย์บริหารเงินออมฯ ซึ่งจะได้รับคำแนะนำการออมเงินในรูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสมและคุ้มค่ามากกว่าการฝากเงินในธนาคาร ในหลักการที่ว่า “ให้เงินทำงานแทนเรา” โดยการให้เงินดำเนินการตามกลไกเพิ่มมูลค่าในตัวเอง อาทิ การลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ ขึ้นกับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของแต่ละตน หรือการลงทุนในพันธบัตร เป็นต้น
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--