อันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency (LTFC) Issuer Default Rating (IDR) ของธนาคารทั้ง 3 แห่ง ได้รับการคงอันดับที่ ‘BBB+’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ ‘AA(tha)’ โดยมีแนวโน้มอับดับเครดิตมีเสถียรภาพ สำหรับรายละเอียดอันดับเครดิตอื่น แสดงไว้ในส่วนท้าย
อันดับเครดิตสากลของทั้ง 3 ธนาคารมีปัจจัยสนับสนุนจากอันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating หรือ VR) ของตัวธนาคารเอง ซึ่งพิจารณาถึงระดับเงินกองทุนและความสามารถในการทำกำไรที่อยู่ในระดับดี คุณภาพสินทรัพย์และสำรองหนี้สูญที่อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง และการมีเครือข่ายธุรกิจ (franchise) ในประเทศที่แข็งแกร่ง ฟิทช์เชื่อว่าฐานะทางการเงินโดยรวมของธนาคารทั้ง 3 แห่ง น่าจะแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับผลกระทบจากการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของคุณภาพสินเชื่อได้ ซึ่งสะท้อนอยู่ในแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากธนาคารมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ยั่งยืนในด้านความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ ในขณะที่สามารถรักษาเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งได้ อย่างไรก็ตามการปรับเพิ่มอันดับเครดิตดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยในระยะสั้น เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากภาวะการดำเนินธุรกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวอ่อนแอลง ในทางกลับกันการปรับลดอันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงินและอันดับเครดิตสากล อาจเกิดขึ้นได้หากสินเชื่อมีการกระจุกตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในระดับที่อาจทำให้ระดับคุณภาพสินทรัพย์หรือสภาพคล่องมีการปรับตัวอ่อนแอลง การปรับลดเพดานอันดับเครดิต (Country Ceiling) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ ‘BBB+’ อาจส่งผลให้อันดับเครดิตสากลของธนาคารถูกปรับลดอันดับลง เนื่องจากอันดับเครดิตสากลของธนาคารทั้ง 3 แห่งถูกจำกัดโดยเพดานอันดับเครดิต การที่ธนาคารมีการถือครองพันธบัตรของรัฐบาลไทยในระดับที่ไม่สูงนักและการที่มีการถือหุ้นโดยรัฐบาลในจำนวนที่จำกัด ส่งผลให้อันดับเครดิตของธนาคารอยู่ในระดับที่สูงกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย แต่ไม่สูงกว่าเพดานอันดับเครดิต
ในระยะปานกลาง ผลการดำเนินงานของธนาคารทั้ง 3 แห่งน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่ง ต้นทุนการระดมทุนที่ต่ำกว่า และการปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นของความสามารถในการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม (fee incomes)
คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมของทั้ง 3 ธนาคารน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ในกรณีที่ภาวะเศรษฐกิจไม่มีการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงจากผลกระทบจากปัญหาหนี้สินในทวีปยุโรป สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 3% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 แต่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ชั่วคราวในระยะ 6 เดือนข้างหน้า เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในประเทศไทยและแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน
การระดมทุนของธนาคารทั้ง 3 แห่ง มุ่งเน้นที่จะระดมทุนจากผู้ฝากเงินรายย่อย โดยมีการพึ่งพาเงินทุนจากสถาบันรายใหญ่ (wholesale) และเงินทุนที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศในระดับที่จำกัด ซึ่งน่าจะช่วยลดความเสี่ยงในด้านสภาพคล่องและการระดมทุนภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ผันผวน ระดับเงินกองทุนคาดว่าน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเพียงพอ โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ระดับเกินกว่า 9% - 10% ในระยะยาว ซึ่งหากรวมกับระดับสำรองหนี้สูญที่ได้มีการสะสมมาในระดับสูง ปัจจัยดังกล่าวน่าจะช่วยรองรับผลกระทบจากความเสี่ยงจากการขาดทุนจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ลดลง หากสภาวะเศรษฐกิจปรับตัวอ่อนแอลง อัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 193% สำหรับ BBL และประมาณ 130% สำหรับ SCB และ KBANK ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555
BBL เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในด้านสินทรัพย์รวม และมีการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคในสัดส่วนที่สูงที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย SCB ซึ่งก่อตั้งโดยพระบรมราชานุญาตในปี 2447 เป็นธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดและมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 24% และกระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นผ่านกองทุนวายุภักษ์ที่ 23% KBANK ก่อตั้งโดยตระกูลล่ำซำ และเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย
อันดับเครดิตของ BBL:
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับเครดิตที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับเครดิตที่ ‘F2’
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินคงอันดับเครดิตที่ ‘bbb+’
อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับเครดิตที่ ‘2’
อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับเครดิตที่ ‘BBB-’
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับเครดิตที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับเครดิตที่ ‘F1+(tha)’
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันคงอันดับเครดิตที่ ‘BBB+’
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิคงอันดับเครดิตที่ ‘BBB’
อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิคงอันดับเครดิตที่ ‘AA-(tha)’
อันดับเครดิตของ SCB:
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับเครดิตที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับเครดิตที่ ‘F2’
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันคงอันดับเครดิตที่ ‘BBB+’
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินคงอันดับเครดิตที่ ‘bbb+’
อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับเครดิตที่ ‘2’
อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับเครดิตที่ ‘BBB-’
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับเครดิตที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับเครดิตที่ ‘F1+(tha)’
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันคงอันดับเครดิตที่ ‘F1+(tha)’
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิคงอันดับเครดิตที่ ‘AA-(tha)’
อันดับเครดิตของ KBANK:
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับเครดิตที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับเครดิตที่ ‘F2’
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินคงอันดับเครดิตที่ ‘bbb+’
อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับเครดิตที่ ‘2’
อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับเครดิตที่ ‘BBB-’
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับเครดิตที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับเครดิตที่ ‘F1+(tha)’
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันคงอันดับเครดิตที่ ‘AA-(tha)’
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันคงอันดับเครดิตที่ ‘F1+(tha)’