ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ กล่าวว่า กรมพินิจฯ เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการดูแลเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด โดยยึดหลักในการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนและประสานความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายจากทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุภารกิจหลักคือ การคืนเด็กดีสู่สังคม การจัดประชุมวิชาการระดับชาติฯ ในครั้งนี้เพื่อการพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศในกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนไทยและประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย — แปซิฟิค โดยความร่วมมือของสถาบันกำกับดูแลกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนระหว่างประเทศ (International Juvenile Justic Observatory : IJJO) และในโอกาสเดียวกันนี้ จะได้มีการจัดประชุมสภากระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ระดับภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ครั้งที่ 1 โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานในสาขาวิชาต่างๆ และหน่วยงานที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา จากประเทศในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค กว่า 20 ประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม เพื่อเป็นการยกระดับการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนให้มีความเป็นมาตรฐานยิ่งขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ ของประเทศในแถบภูมิภาคเดียวกัน ถือเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเพื่อการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ในปีพ.ศ.2558 ด้วย
อธิบดีกรมพินิจฯ กล่าวว่า กรมพินิจฯ ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาระบบการดำเนินงานของหน่วยงานให้มีความเหมาะสมต่อสภาพปัญหาและความจำเป็นของเด็กและเยาวชนแต่ละรายเพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานตรงนี้ โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลางในการทำงาน คือเน้นประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชนรวมถึงการพัฒนาระบบการทำงานให้เชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของตำรวจ อัยการ ศาลและกรมคุมประพฤติ เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ไม่ซ้ำซ้อน ในการจัดประชุมในครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ของกระบวนการยุติธรรมเด็กไทย เนื่องจากเป็นการประชุมด้านกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนครั้งแรกในระดับภาคพื้นเอเซีย-แปซิฟิค ซึ่งจะมีการจัดประชุม 2 ส่วนคือ
การประชุมวิชาการระดับภูมิภาค : การพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศในกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนไทยและประเทศในแถบภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิค ในวันที่ 12-13 มิถุนายน 2555 และ การประชุมก่อตั้งสภากระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนระดับภาคพื้นเอเซีย-แปซิฟิค ครั้งที่ 1 ในวันที่ 14 มิถุนายน 2555 เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานในการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมต่อไป
Mr.Cedric กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมนำเสนอในข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำงานขององค์กร IJJO งานหลักๆ ขององค์กร IJJO ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างชาติที่ทำเพื่อสาธารณะ มีการก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว วัตถุประสงค์สำคัญในการก่อตั้งคือการทำงานแบบครอบคลุม มีการประสานงานระหว่างองค์กรในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟูเด็กและและเยาวชนที่กระทำผิด รวมไปถึงการให้การศึกษาและคืนเด็กและเยาวชนสู่สังคม นอกจากนี้องค์กร IJJO ยังได้มีการจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ มีการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน กระบวนการยุติธรรม สิทธิเด็กและเยาวชน มีการก่อตั้งเครือข่ายในการทำงานกับผู้เชี่ยวชาญ และผู้ให้การสนับสนุนโดย มีการจัดทำแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินงานด้านเด็กและเยาวชน มีบทบาทเป็นผู้ให้ข้อมูลและเสนอแนะแนวทางนโยบาย รวมไปถึงแนวทางการพัฒนากระบวนการดูแลเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมให้ดีขึ้น โดยส่งเสริมการวิจัยให้แก่ผู้ที่ทำงานด้านนี้ด้วย ที่สำคัญยังเป็นที่ปรึกษาขององค์กร ECOSOC ของUnited Nations ด้วย องค์กรIJJO ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่มีการศึกษาวิจัย เป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสและสเปน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการสร้างความตระหนัก การให้ความสำคัญโดยให้องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ต่างๆ ได้มีส่วนร่วมสร้างเครือข่ายในการป้องกันการกระทำความผิดและการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน ในทุกๆ 2 ปี จะได้มีการจัดประชุม International Conference
สำหรับปีนี้จะจัดขึ้นที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในหัวข้อกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนโดยปราศจากขอบกั้น โดยจะมีการให้รางวัลกับผู้ที่ทำงานในระดับนานาชาติและมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ได้มีการจัดตั้งสภากระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนขึ้น ในลาตินอเมริกา แอฟริกาและยุโรป สำหรับในแถบภูมิภาคเอเชียจะมีปัญหาเรื่องการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อ(ผู้เสียหาย) ในส่วนภูมิภาคนี้จะให้ความสำคัญยิ่งขึ้นในเรื่องของการพัฒนาเรื่องขององค์ความรู้เพื่อหาแนวทางลดการใช้ความรุนแรงในเด็ก การค้ามนุษย์ และเรื่องของการคุ้มครองสิทธิเด็ก ซึ่งองค์กรIJJO ให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งในการทำงานของภูมิภาคเอเซียนี้ สำหรับการประชุมที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นการพูดคุยในเรื่องการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน ส่งเสริมการป้องกันกระทำความผิด นโยบายในส่วนของภูมิภาคเอเชีย ขอขอบคุณกระทรวงยุติธรรมที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน และผู้สนับสนุน สสส. ที่ทำให้เกิดความร่วมมือนำไปสู่การพัฒนาระบบการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมในครั้งนี้
กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ส่วนงานวิจัยและพัฒนา โทร. 02-1413578