นายอนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ทำเลที่อุปทานใหม่จะเปิดตัวสูงสุดในปีนี้ คาดว่าจะเริ่มเปลี่ยนทิศทางการเสนอขายไปอยู่ในโซน ทางทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ มากขึ้น ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในโซนเพชรเกษม-กัลปพฤกษ์ บางใหญ่-รัตนาธิเบศร์ บางบัวทอง-ไทรน้อย และบรมราชชนนี-พุทธมณฑล มีแนวโน้มอุปทานใหม่เติบโตสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว ตามการขยายตัวของเส้นทางรถไฟฟ้าในอนาคต และอุปสงค์ในพื้นที่ยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยจำนวนมาก โดยเฉพาะตลาดบ้านเดี่ยวจะเริ่มกลับมาจับกลุ่มตลาดบนราคา 10-20 ล้านบาท ในโซนเพชรเกษม-กัลปพฤกษ์ เพิ่มขึ้น ส่วนตลาดระดับกลางจะเน้นในโซนบางใหญ่-รัตนาธิเบศร์ และโซนบรมราชชนนี-พุทธมณฑล ของพื้นที่ ทางทิศตะวันตกด้วย สำหรับตลาดทาวน์เฮาส์ยังเน้นเสนอขายในกลุ่มราคา 1-3 ล้านบาท และอาจเริ่มจับกลุ่ม ทาวน์เฮาส์ในพื้นที่ทางทิศใต้ของกรุงเทพฯ มากขึ้น เช่น ในโซนรอบนอกวงแหวน และเอกชัย-พระราม2 ในขณะเดียวกันพื้นที่ทางทิศเหนือแม้อาจถูกลดทอนส่วนแบ่งการเสนอขายลง ทั้งตลาดบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ แต่ยังคงปริมาณอุปทานที่สูงสุดไว้เช่นเดิม เนื่องจากยังมีอุปทานที่ดีที่สามารถพัฒนาได้จำนวนมาก และปริมาณ ความต้องการยังรองรับได้ชัดเจน สำหรับราคาเสนอขายโครงการใหม่ในอนาคตคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างน้อย 7-10% ในแต่ละโครงการ เนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องเผชิญกับราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้น ภายหลังจากผ่านช่วงการตรึงราคาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้อง เตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำในอนาคตและปัญหาจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานในภาคอสังหาฯ ทำให้ ต้นทุนการดำเนินการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ดังนั้น มีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการจะเริ่มกลับมาจับกลุ่มบ้านเดี่ยว ระดับบนเพิ่มขึ้น เช่น ในกลุ่ม 10-20 ล้านบาท และกลุ่ม 7-10 ล้านบาท ส่วนตลาดทาวน์เฮาส์ คาดว่าจะขยาย อุปทานไปในกลุ่มราคา 3-5 ล้านบาทมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อปริมาณอุปสงค์ที่ไม่แน่นอนจากปัจจัยทาง เศรษฐกิจและสังคมที่กดดันอุปสงค์ระดับล่างให้ลดการเติบโตด้วย
ด้านพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดแนวราบและปัจจัยที่มีผลต่อการซื้อบ้านใหม่และบ้านมือสองในปีนี้และปีหน้านั้น นายอนุกูลกล่าววิเคราะห์ในประเด็นดังกล่าวว่า “พฤติกรรมผู้บริโภคในปีนี้ คาดว่าจะไม่เปลี่ยน ไปจากเดิมเนื่องจากอุปสงค์กลุ่มนี้เป็น Real Demand ในระบบตลาด แม้ว่าในช่วงปลายปี 2554 กรุงเทพมหานครจะเกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ หยุดชะงักชั่วคราว ภาวะเศรษฐกิจได้รับ ผลกระทบบ้าง แต่จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มเติบโต ผู้บริโภคจึงมิได้ลดหายแต่อาจเพิ่มระยะเวลา ในการตัดสินใจซื้อนานขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น ซึ่งอุปสงค์ส่วนใหญ่ของตลาดแนวราบเน้นเพื่อการอยู่อาศัยมากกว่า การซื้อเพื่อการลงทุน ดังนั้น พฤติกรรมในการเลือกซื้อคงไม่แตกต่างจากเดิมเว้นเพียงเรื่องระยะเวลาในการ ตัดสินใจ จากผลการสำรวจหลายครั้งในปีที่ผ่านมาของฝ่ายวิจัยยังได้รับคำตอบเช่นเดียวกันเสมอถึงอุปสงค์ที่มี ความต้องการบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ แม้จะผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะทำเล ในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม เพราะผู้บริโภคยังยึดติดกับสถานที่เดิม และความสะดวกในการเดินทางในปัจจุบัน แม้พื้นที่นั้นจะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยก็ตาม เนื่องจากพื้นที่ ดังกล่าวยังมีศักยภาพและมีมูลค่าในตลาด ความต้องการที่อยู่อาศัยจึงยังคงอัตราเดิม แต่สิ่งที่คาดว่าจะเป็น ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค คือ ข้อมูลข่าวสาร มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในยุค Social Network เช่น การสื่อสารครอบคลุมครบวงจร ทำให้โครงการมีภาพลักษณ์แง่บวกและลบในสายตา ผู้บริโภคแบบทิศทางเดียวกันได้ สำหรับบ้านมือสองในปีนี้และปีหน้านั้น ไม่เพียงแต่ผู้บริโภคจะใช้ข้อมูลข่าวสาร ในการพิจารณาเลือกซื้อโครงการประกอบกับราคาและทำเลที่เป็นพื้นฐานปกติในการเลือกซื้อแล้ว แต่ปัจจัย สำคัญอีกประการเป็นเรื่องโครงสร้างและความปลอดภัย ซึ่งผู้บริโภคต่างให้ความสำคัญและลงรายละเอียด มากขึ้นกว่าในอดีต โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย ซึ่งจะพิจารณาถึงแนวทางการป้องกันและมาตรการ ในการช่วยเหลือหากเกิดเหตุ แต่ถึงอย่างไร ปริมาณอุปสงค์ในตลาดแนวราบทั้งใหม่หรือมือสอง คาดว่าไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญนัก”
ในเรื่องปัจจัยที่น่าจะมีผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ แนวราบในอนาคตนั้น นายอนุกูลกล่าวเสริมว่า “ปัจจัยสนับสนุนต่อการเติบโตของตลาดแนวราบในพื้นที่ทางทิศตะวันตก สิ่งที่น่าสนใจคือ ทำเลบริเวณบางแค ถนนราชพฤกษ์, กัลปพฤกษ์ และเพชรเกษม นอกจากเป็นทำเลแหล่งอำนวยความสะดวก รองรับการคมนาคม เข้าสู่ใจกลางเมืองได้หลายเส้นทางและมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสแล้ว ยังเป็นเส้นทางสายตะวันตก เชื่อมไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังมีการลงทุนเมกะโปรเจกต์ด้วย ภายใต้ยุทธศาสตร์ทางการค้าระหว่าง ประเทศที่สอดรับการเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558 คาดว่าจะมีส่วนส่งเสริมสนับสนุน ให้พื้นที่นี้ได้รับความสนใจจากอุปทานและอุปสงค์เพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ มาตรการทางด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น การเลื่อนระยะเวลาการกำหนด LTV ไม่เกิน 95% สำหรับตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบจากที่ประชุมคณะกรรมการ นโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) คาดว่าจะส่งผลให้อุปสงค์ตลาดแนวราบเพิ่มขึ้นได้ในปีนี้ รวมถึงแผนพัฒนา ฟลัดเวย์(Floodway) ในถนน 2 เส้นทางทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก หากมีความชัดเจนมากขึ้นจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุปสงค์ในตลาดอสังหาฯ แนวราบมากขึ้นด้วย อีกทั้งผังเมืองกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ที่จะเข้ามาแทนผังเมืองเดิมที่สิ้นสุดลงในวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 จะส่งผลให้เกิดการกระจายความเจริญออกนอกเมืองด้วย”
บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เริ่มดำเนินกิจการเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2539 ภายใต้ทุนจดทะเบียนปัจจุบันถึง 600 ล้านบาท (ชำระแล้ว) นับเป็นทุนจดทะเบียนของผู้ให้บริการอสังหาริมทรัพย์ที่มากที่สุดในประเทศไทย ด้วยศักยภาพและโครงสร้างขององค์กรที่เข้มแข็ง พลัส ได้ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านบริการอสังหาริมทรัพย์ โดยมีธุรกิจบริการ คือ ตัวแทนซื้อ ขาย เช่า อสังหาริมทรัพย์ และบริหารงานขายโครงการ การบริหารจัดการเพื่อที่พักอาศัย การบริหารจัดการทรัพยากรอาคาร ที่ปรึกษาการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการของ พลัส พร็อพเพอร์ตี้: www.plus.co.th