ศาสตรเมธี ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ประธานคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ เปิดประเด็นการแถลงข่าว โดยกล่าวว่า สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในด้านสาธารณสุข เกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนสุขภาพ (กองทุนสวัสดิการข้าราชการ, กองทุนประกันสังคม, กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน โดยจะเดินหน้าลดการเหลื่อมล้ำและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากเป็นโรคที่เป็นปัญหาสำคัญ
ของสังคมไทย และเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่ง
ด้าน รศ.ดร จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุข และด้านคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการ ได้กล่าวเสริมว่า ในวันที่ 11 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในการประชุมเชิงนโยบายเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนประกันสุขภาพของภาครัฐ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะเข้ามาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน และต้องไม่เกิดปัญหาภาวะล้มละลายจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวที่ทำให้ประชาชนทุกคน สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในหน่วยบริการทุกแห่งทั้งรัฐบาลและเอกชนโดยไม่ต้องคำนึงถึงสิทธิด้านการรักษาพยาบาล ประชาชนภายใต้สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันก็ล้วนได้รับประโยชน์ดีขึ้น
โดยคณะทำงานเกี่ยวเนื่องฯ กำลังดำเนินการทำข้อเสนอต่อรัฐบาล เกี่ยวกับระบบบริหารจัดการการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งทั้ง 3 กองทุน ที่ยังมีความเหลื่อมล้ำ หรือมีสิทธิประโยชน์ต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องยารักษาโรค และอัตราการจ่ายเงินให้หน่วยบริการที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยมะเร็ง ในแต่ละระบบ โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. ปรับสิทธิประโยชน์และแบบแผนการรักษามะเร็งทุกโรคให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะยาราคาแพง ที่ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้ง 3 ระบบ
2. ปรับวิธีการจ่ายเงินให้หน่วยบริการ โดยเฉพาะการรับยามะเร็งแบบผู้ป่วยนอกให้เป็นลักษณะเฉพาะอัตราเดียวกัน แยกจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยในขอให้จ่ายตามระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม หรือ DRG ที่เท่ากัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ
3. ให้ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ จัดสรรงบประมาณให้ความสำคัญกับการรณรงค์สร้างความรู้การส่งเสริมป้องกันโรค และคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเพื่อการรักษาตั้งแต่เป็นระยะแรก ซึ่งจะสามารถลดการสูญเสียได้
ในช่วงท้ายของการแถลงข่าว ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ได้กล่าวเสริมอีกว่า นอกจากการเสนอให้มีการลดความเหลื่อมล้ำในการรักษาโรคต่างๆ ของทั้ง 3 กองทุนแล้ว คณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ จะดำเนินการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการรักษาโรคเรื้อรังอื่นๆ อีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างเท่าเทียมนั่นเอง