ดร.ป้องศักดิ์ ทองเนื้อแข็ง ผู้ประสานงานมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ โปรแกรมวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล ร่วมกับชมรมธุรกิจจำลองด้านการท่องเที่ยว SKRU SMILE TRIP ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จัดโครงการสร้างจิตสำนึก การจัดการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ณ เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย โดยโครงการดังกล่าวเป็นการจัดกิจกรรมภายใต้รูปแบบทัศนศึกษาและศึกษาดูงานการจัดการท่องเที่ยวบนเกาะลังกาวี เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการเกิดการเรียนรู้ในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในรูปแบบที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนา โดยเฉพาะเกาะลังกาวีซึ่งมีพื้นที่ใกล้กับจังหวัดสตูล และมีประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวนับถือศาสนาอิสลาม แต่ความน่าสนใจที่น่าศึกษาคือเป็นพื้นที่ๆสามารถพัฒนาการท่องเที่ยว ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จนได้รับการยอมรับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางภูมิศาสตร์ระดับโลก ในหลายปีที่ผ่านมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ดร.ป้องศักดิ์ กล่าวอีกว่า การจัดโครงการดังกล่าวเป็นไปภายใต้แนวคิดการสร้างประสบการณ์ให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสสัมผัสความเป็นมืออาชีพในการทำงานด้านการท่องเที่ยวและการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างมาตรฐานการคิด วิธีคิด การเสนอความคิด ในการพัฒนาทางด้านการท่องเที่ยวสอดคล้องตามหลักสากล โดยกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการเป็นกลุ่มผู้นำชุมชนในเขตพื้นที่จังหวัดตรังและพัทลุง จำนวน 100 คน ร่วมทัศนศึกษาและศึกษาดูงานเกาะลังกาวี ซึ่งเป็นเกาะที่มีชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม สภาพเศรษฐกิจค่อนข้างยากจน ภายใต้การนำของ ดร.มหาเดย์ มูฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียในขณะนั้น ได้ดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการสร้างจุดขาย และพัฒนาให้เป็นเมืองปลอดภาษีสินค้า มีการนำเสนอเรื่องราวชีวิตของพระนางมะสุหรี โดยจัดการให้เป็นส่วนหนึ่งของทรัพยากรทางการท่องเที่ยว จนโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก นอกจากนี้ ผู้ร่วมโครงการได้สัมผัสกับตัวอย่างของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น แนวต้นสักทอง ที่เจริญเติบโตรอบแนวสองฝากฝั่งถนนรอบเกาะลังกาวี ซึ่งครั้งหนึ่ง ฯพณฯพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้มอบต้นกล้าไม้สักจำนวน 1,000 ต้น เป็นที่ระลึกแก่ ดร.มหาเดย์ ต่อมาท่านผู้นำมาเลเซียมีแนวคิดในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยดำริว่าต่อไปลังกาวีจะเป็นที่ศึกษาพัฒนาการการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ประเภทนี้ และอนาคตคนไทยจะได้เห็นต้นสักใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์บนเกาะลังกาวี
ดร.ป้องศักดิ์ สรุปถึงความสำเร็จของการจัดโครงการในครั้งนี้ว่า ก่อให้เกิดประโยชน์และเป็นจุดเริ่มต้นแนวคิด การจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งประสบการณ์จากการศึกษาดูงานครั้งนี้ เป็นกลไกหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดแนวทางในการพัฒนาทางด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ การให้บริการ และการรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องสร้างมาตรฐานในการบริการ และการบริหารจัดการตามหลักมาตรฐานสากล ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้างความยั่งยืนให้กับการจัดการท่องเที่ยวของชุมชน ซึ่งผู้นำชุมชนจะต้องเข้าใจ ตลอดจนสร้างให้คนในชุมชนและนักท่องเที่ยวเข้าใจและยอมรับกระบวนการดังกล่าว ซึ่งมีการจัดการท่องเที่ยวของเกาะลังกาวีเป็นต้นแบบ ที่ควรศึกษาเพื่อนำมาเป็นตัวอย่างในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของชุมชนในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทยต่อไปในอนาคต