นายโสภณ ผลประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าในฐานะที่ สศอ. มีหน้าที่โดยตรงในการเสนอแนะนโยบาย แนวทาง และมาตรการในการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดำเนินโครงการติดตามการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ประเทศไทยได้ทำร่วมกับประเทศคู่ค้าสำคัญต่างๆ หลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 ที่จะถึงนี้
จากการศึกษาการใช้ประโยชน์จาก FTA พบว่าในปี 2554 ภาคส่งออกไทยได้รับประโยชน์ด้านภาษีจาก FTA ในกรอบความตกลงต่างๆ รวมมูลค่า 118,195 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปยังประเทศภาคี FTA เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 16,407 ล้านบาท โดยผู้ส่งออกไปยังกลุ่มอาเซียนได้รับประโยชน์สูงสุด 75,579 ล้านบาท รองลงมาคือผู้ส่งออกไปประเทศจีน 20,295 ล้านบาท ในขณะเดียวกันภาคนำเข้าไทยได้รับประโยชน์ด้านภาษีจาก FTA รวมเป็นมูลค่า 70,796 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.7 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดจากประเทศภาคี FTA โดยประโยชน์ที่ได้รับนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 11,638 ล้านบาท ทั้งนี้ผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศในกลุ่มอาเซียนได้รับประโยชน์สูงสุดมูลค่า 33,709 ล้านบาท รองลงมาคือผู้นำเข้าจากประเทศจีน 21,784 ล้านบาท
ผลการศึกษาแม้ว่าในภาพรวมประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ในระดับสูง แต่ยังพบว่ามีผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรมยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA กับประเทศในกลุ่มอาเซียนได้อย่างเต็มที่ โดยทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าไทยยังใช้สิทธิประโยชน์ต่ำกว่าระดับเต็มที่ 65,424 ล้านบาท และ 11,585 ตามลำดับ ซึ่งผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์ภายใต้เขตการค้าเสรี AFTA (ASEAN Free Trade Area) จากการส่งออกสินค้าไปอินโดนีเซียมากที่สุดในประเภทกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร, เคมีภัณฑ์, พลาสติก, ไม้/เฟอร์นิเจอร์ ส่วนการส่งออกสินค้าไปกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ (ยกเว้นเวียดนาม) ยังใช้สิทธิในระดับต่ำมาก และสำหรับด้านการนำเข้าผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์ภายใต้ AFTA จากการนำเข้าสินค้าจากอินโดนีเซียมากที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ พลาสติก ยาง ไม้/เฟอร์นิเจอร์ ส่วนการนำเข้าสินค้าจากพม่าและบรูไนใช้สิทธิในระดับต่ำมาก ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ผู้ส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไทยถือว่ามีความพร้อมสูงสุดในการรับมือกับ AEC ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 เนื่องจากสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในตลาดอาเซียนได้อย่างชัดเจน ในขณะที่ผู้ส่งออกไทยในอีกหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่แม้จะยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จาก FTA ได้อย่างเต็มที่แต่ก็พอจะแข่งขันสู้กับประเทศอาเซียนด้วยกันได้ เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานในการแข่งขันด้านอื่นดี เช่น ผู้ส่งออกอาหาร สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม ส่วนผู้ประกอบการที่ควรต้องรีบปรับตัวอย่างเร่งด่วนเนื่องจากมีส่วนแบ่งตลาดลดลงและยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ได้ ได้แก่ ผู้ส่งออกเครื่องหนัง เครื่องใช้ไฟฟ้า และเหล็กและเหล็กกล้า
นายโสภณกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา สศอ. และทีดีอาร์ไอ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องในการระบุประเด็นปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ทำให้ภาคเอกชนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งได้เผยแพร่กรณีศึกษาแนวทางและวิธีการใช้ประโยชน์ FTA จากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่เคยใช้ประโยชน์ เนื่องจากอาจขาดความรู้ความเข้าใจหรืออาจยังลังเลไม่แน่ใจมาเริ่มใช้ประโยชน์จาก FTA เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น และเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยได้รับประโยชน์จากการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน รวมทั้ง FTA กับประเทศคู่ค้าอื่นๆ สูงสุด นอกจากนี้ สศอ. และทีดีอาร์ไอยังวางแผนที่จะศึกษาการใช้ประโยชน์จากการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนด้านอื่นๆ อีกด้วย โดยเริ่มต้นจากการศึกษาการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ภายในภูมิภาคที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตในประเทศไทยและเครือข่ายการผลิตในอาเซียนต่อไป