นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า ความร่วมมือกันระหว่าง วว. กับ ธ.ก.ส. ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้และนำความเชี่ยวชาญของทั้งสองหน่วยงาน ในการพัฒนาสังคมดูแลสิ่งแวดล้อมและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน ตามแนวทางการพัฒนาการเรียนรู้เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรไทย ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ นโยบายและภารกิจของทั้งสองหน่วยงาน ทั้งยังเป็นการส่งเสริมเกื้อกูลชุมชนเกษตรกรให้นำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ชุมชนและทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี
“...วว. มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญหลากหลายเทคโนโลยีที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้เป็นอย่างดี เช่น เทคโนโลยีบล็อกประสาน เทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร เทคโนโลยีการแปรรูปสมุนไพร เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์และเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ วว.มีประสบการณ์ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ปัจจุบัน วว. มีโรงปุ๋ยอินทรีย์ชุมชนมากกว่า 300 โรง ที่ตั้งอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้มากกว่า 300,000 กระสอบ/ปี แต่การที่จะทำให้กลุ่มเกษตรกรสามารถดำเนินการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้อย่างต่อเนื่องและเกิดความยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน ซึ่ง ธ.ก.ส. เป็นธนาคารของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในด้านการเงินเป็นอย่างดี หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือครั้งนี้จะส่งผลดีต่อเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้การดำเนินงานของกลุ่มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...” ผู้ว่าการ วว.กล่าว
นายวินัย เครือตรีประดิษฐ์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ธ.ก.ส. รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกันอย่างบูรณาการกับ วว. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีแหล่งความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ส่วน ธ.ก.ส. นั้น เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับเกษตรกรที่มี 1,082 สาขา จำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 6.7 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ โดยเรามีกลุ่มเกษตรกรที่มีการรวมตัวกันอย่างหนาแน่น และจะทำการคัดเลือกกลุ่มที่มีศักยภาพในการรับเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์จาก วว. เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการนำเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ไปสู่ชุมชน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกิดความร่วมมือในด้านอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
อนึ่ง กรอบแนวทางของความร่วมมือนั้น วว. จะดำเนินการแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของ ธ.ก.ส. ส่วนทาง ธ.ก.ส.จะแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการและการจัดทำบัญชีโรงปุ๋ยให้แก่กลุ่มเกษตรกรโรงปุ๋ย วว. โดยทั้งสองหน่วยงานจะได้ทำการคัดเลือกชุมชนที่มีศักยภาพ สนใจรับการถ่ายทอดการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี การบริหารจัดการ และการจัดทำบัญชี พร้อมกันนี้จะได้ร่วมกันกำหนดสถานที่ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน การจัดเวทีชุมชน การฝึกอบรมและศึกษาดูงาน สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือในการจัดกระบวนการเรียนรู้ การบริหารจัดการ การจัดทำบัญชี และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ตลอดจนร่วมกันติดตามผลการดำเนินงานของชุมชนต้นแบบเรียนรู้และประเมินผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว