ดีบีเอสซึ่งให้การสนับสนุนทั้งในด้านการเงินและอื่น ๆ แก่บริษัท ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทขึ้นอยู่กับความสามารถของบริษัทในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายและทรัพยากร รวมทั้งการพัฒนาธุรกิจกับลูกค้าในฐานลูกค้าของกลุ่มธนาคารดีบีเอส อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ไทย นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความไม่แน่นอนของธุรกิจหลังการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบในปี 2555 นี้ด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการที่บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่กลับมาเพิ่มขึ้นและมีผลประกอบการทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งจะติดตามสถานะทางการตลาดและผลประกอบการของบริษัทอย่างใกล้ชิดหลังการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบในปี 2555 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงฐานะการเป็นบริษัทที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ อีกทั้งจะยังมีบทบาทในธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายระดับสากลของกลุ่มธนาคารดีบีเอส และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธนาคารดีบีเอสต่อไป
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทหลักทรัพย์ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ดำเนินธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นหลักโดยมีธุรกิจสนับสนุนอื่น ๆ ได้แก่ ธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงิน ธุรกิจจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับลูกค้าที่มีความมั่งคั่งทางการเงิน รายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นรายได้หลักที่คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 86% ของรายได้รวมในปี 2554 ในขณะที่รายได้จากบริการอื่นมีสัดส่วนประมาณ 10% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6.5% ของรายได้รวมในปี 2554 รายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจของบริษัทลดลงอย่างมาก โดยรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการมีจำนวน 11 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 1.6% ของรายได้รวมในปี 2554 ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะยังมีรายได้จากธุรกรรมในส่วนนี้ไม่มากในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า สำหรับกำไรหรือขาดทุนจากการซื้อขายหลักทรัพย์นั้นคาดว่าจะมีสัดส่วนที่น้อยมากเนื่องจากบริษัทได้ตัดสินใจหยุดธุรกรรมการค้าหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัท
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.65% ในปี 2554 จาก 2.54% ในปี 2553 และ 2.01% ในปี 2552 ส่วนแบ่งทางการตลาดปรับลดลงเล็กน้อยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2555 เป็น 2.58% สถานะทางการตลาดของบริษัทจัดอยู่ในอันดับที่ 17 จากจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด 33 ราย ดีขึ้นจากอันดับที่ 21 เมื่อปี 2552 หากบรรยากาศการลงทุนเอื้ออำนวยต่อกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ บริษัทก็น่าจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดเอาไว้ได้เนื่องจากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกลุ่มธนาคารดีบีเอส ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายจากลูกค้าของกลุ่มธนาคารดีบีเอสคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 36%-50% ของมูลค่าการซื้อขายต่อปีของบริษัท ในปี 2554 บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากการคิดค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์แบบขั้นบันไดมากนักเนื่องจากอัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลงนั้นได้รับการชดเชยในสัดส่วนที่มากกว่าจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันในปี 2554 ไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2553 มากนัก โดยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันของทั้งตลาดหลักทรัพย์รวมกับตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ทรงตัวอยู่ที่ระดับวันละประมาณ 29 พันล้านบาทในปี 2553 และปี 2554 แต่เป็นระดับที่เพิ่มขึ้นมากจากเดิมวันละ 16 พันล้านบาทในปี 2551 และ 18 พันล้านบาทในปี 2552 อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้นหลังการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบในปี 2555 นี้น่าจะสร้างแรงกดดันต่อความสามารถในการทำรายได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท
กำไรสุทธิของบริษัทหลักทรัพย์ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นหลังจากวิกฤตในปี 2551 โดยบริษัทรายงานผลกำไรสุทธิสำหรับปี 2552 จำนวน 34.13 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 80.20 ล้านบาท และปี 2554 จำนวน 82.32 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์การลงทุนที่ฟื้นตัวตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2552 การลดลงของค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยหลังจากเปิดเสรีคาดว่าจะจำกัดความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคต อย่างไร
ก็ตาม บริษัทได้เตรียมการสร้างเสถียรภาพความสามารถในการทำรายได้โดยการขยายงานไปยังธุรกิจที่สร้างรายได้ค่าธรรมเนียมอื่นๆ และออกผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดและความต้องการของลูกค้ามากขึ้น
บริษัทหลักทรัพย์ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) มีสินทรัพย์รวมอยู่ระหว่าง 1.6-1.9 พันล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2548-2552 ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 พันล้านบาท ในปี 2553 และ 2.8 พันล้านบาทในปี 2554 เนื่องจากบริษัทมีปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ปริมาณสินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์คงค้างในปี 2554 จึงเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 1 พันล้านบาท จาก 875 ล้านบาท ในปี 2553 จากการที่บริษัทมีปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยสินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์คงค้างคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 37% ของสินทรัพย์รวมในปี 2554 อย่างไรก็ตาม บริษัทมีนโยบายจะขยายสินเชื่อดังกล่าวในระยะกลางเมื่อมีโอกาส ทั้งนี้ การขยายสินเชื่อควบคู่กับมาตรการในการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดยิ่งขึ้นน่าจะทำให้บริษัทสามารถทำกำไรจากธุรกรรมนี้ได้
บริษัทหลักทรัพย์ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) มีความเสี่ยงที่ค่อนข้างต่ำจากการลงทุน โดยมีเพียงการลงทุนสมทบในหุ้นสามัญจำนวน 9 ล้านบาทเพื่อการจัดตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนภาคบังคับสำหรับสถาบันการเงิน โดยในขณะนั้นบริษัทยังคงมีสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอ ณ เดือนธันวาคม 2554 บริษัทใช้วงเงินกู้ไปประมาณ 1.9% จากวงเงินทั้งสิ้น 2.66 พันล้านบาทจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ในประเทศ ในขณะที่เงินกู้ส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากการกู้ยืมบริษัทแม่ บริษัทยังคงมีทุนที่เพียงพอสำหรับการประกอบธุรกิจโดยส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 940 ล้านบาทในปี 2554 ในขณะที่มีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital Rule -- NCR) ณ เดือนธันวาคม 2554 อยู่ที่ 66.7% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 7% ที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ค่อนข้างมาก ทริสเรทติ้งกล่าว
บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (DBSVT)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)