หอการค้าไทยประเมิน 2 เดือนขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 กระทบผู้ประกอบการถึง 82.4%

ศุกร์ ๑๕ มิถุนายน ๒๐๑๒ ๑๔:๓๑
หอการค้าไทยประเมิน 2 เดือนขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 กระทบผู้ประกอบการถึง 82.4%ชี้ใน 7 จังหวัดนำร่องส่วนใหญ่ปรับตัวได้ เหตุค่าแรงเดิมสูงอยู่แล้ว คาดปีหน้าหนักแน่ เมื่อขึ้นทั้งประเทศ ธุรกิจจ่อย้ายฐาน พึ่งเครื่องจักร และโละคนงาน แนะรัฐออกมาตรการช่วยก่อนเจ๊งทั้งระบบ เน้นมาตรการด้านภาษี มีแหล่งเงินทุนดอกต่ำให้กู้

นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลกระทบของนักธุรกิจต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ที่ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ย่างเข้าสู่เดือนที่ 3 แล้ว และจากการที่หอการค้าไทยได้ทำการสำรวจทัศนะของสมาชิกใน 7 จังหวัดนำร่องที่มีการปรับขึ้นค่าแรง ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี พบว่าสมาชิกส่วนใหญ่ยืนยันว่าได้รับผลกระทบ ซึ่งมีมากถึง 82.4% มีเพียง 17.6% ที่ไม่ได้รับผลกระทบ

โดยผลกระทบที่ได้รับส่วนใหญ่เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการที่สูงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันลดลง ยอดจำหน่ายสินค้าลดลงจากการขึ้นราคาสินค้า และค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นแต่ประสิทธิภาพการทำงานเท่าเดิม

ทั้งนี้ จากการติดตามของหอการค้าไทยพบว่า สมาชิกใน 7 จังหวัดนำร่อง ส่วนใหญ่ 92.2% ปรับตัวได้มีเพียง 7.8% ที่ปรับตัวไม่ได้ โดยในการปรับตัว 13.25% มีการปรับลดคนงานลงด้วยการเลิกจ้างบางส่วน อีก 50% ไม่มีการปรับลดคนงาน และอีก 36.75% มีการปรับตัวด้านอื่นๆ เช่น ไม่รับแรงงานเพิ่ม ปรับปรุงการบริหารจัดการภายในบริษัท พยายามปรับตัวเพื่อให้สามารถดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลได้ ใช้เทคโนโลยีแทนพนักงานและเพิ่มงานให้แรงงานทำงานมากขึ้น เป็นต้น

“เอกชนที่ปรับตัวได้ เพราะค่าแรงใน 7 จังหวัดนำร่องเดิมสูงอยู่แล้ว เมื่อขึ้นมาเป็นวันละ 300 บาทจึงปรับตัวได้ไม่ยาก แต่ก็ถือว่าได้รับผลกระทบ หากรัฐบาลไม่ต้องการให้เอกชนมีขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง และนำไปสู่ปัญหาการปลดคนงาน ก็ต้องมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม เพราะมาตรการเดิมที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ โดยรัฐบาลต้องใช้มาตรการทางด้านภาษีให้ครอบคลุมถึง SMEs และผู้ที่ไม่อยู่ในระบบ จ่ายเงินชดเชยค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นต้นทุนการผลิตให้แก่สถานประกอบการ เพิ่มผลิตภาพแรงงาน ช่วยเหลือให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพิ่มศักยภาพการผลิตของสถานประกอบการ และช่วยเหลือด้านการตลาด”นายภูมินทร์ กล่าว

นายภูมินทร์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง ในปี 2556 จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทในทุกจังหวัดที่เหลือ จากเดิมที่มีการปรับขึ้น 40% ของค่าแรงงานขั้นต่ำเดิม ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่างวันละ222-273 บาทไปแล้ว ตรงจุดนี้ จะเกิดผลกระทบอย่างมหาศาล ธุรกิจในหลายจังหวัด ทั้งจังหวัดเล็กและจังหวัดใหญ่ จะพิจารณาถึงการย้ายฐานการผลิต เพื่อการปรับตัว หรือลงทุนประเภทเครื่องจักรจำนวนมากเพื่อลดจำนวนแรงงานลง

ดังนั้น สถานการณ์อัตราค่าจ้าง 300 บาท ในปี 2556 อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย หากไม่มีมาตรการรองรับที่ดี รัฐจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติม ดังนี้ 1.เร่งให้มีการพัฒนาฝีมือแรงงานตามสาขา ประเภทธุรกิจ ให้มีประสิทธิภาพและผู้ประกอบการต้องการ 2.ควรมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถานประกอบการ 3.เอื่ออำนวยความสะดวกหรือลดการนำส่งประกันสังคม 4.เปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานได้มากขึ้น และสะดวกมากขึ้น เพื่อรองรับการเปิด AEC

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศในอาเซียน พบว่า อินโดนีเซียมีการปรับขึ้นมากที่สุด เฉลี่ย 39.8% รองลงมา คือ ไทย เพิ่มขึ้น 35.7% เวียดนาม 33.5% สิงโปร์ 8.8% ฟิลิปปินส์ 5% กัมพูชา 1.1% ส่วนมาเลเซีย ลาว และพม่า ไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

นายจักริน เชิดฉาย ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สิ่งที่อยากเสนอต่อรัฐบาล ต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในส่วนที่เหลือโดยเฉลี่ยเท่ากัน ค่าใช้จ่ายในการจัดอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานขอให้นำมาลดภาษีได้ในอัตรา 2 เท่า ขอให้มีมาตรการช่วยเหลือ SMEs โดยจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากภาครัฐ และขอให้รัฐมีมาตรการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานโดยการยกเว้นภาษีหรือค่าธรรมเนียมนำเข้าเครื่องจักร

นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าโพลล์ ได้ทำการสำรวจทัศนะของลูกจ้างต่อการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท พบว่า ลูกจ้างส่วนใหญ่มีความกังวลในเรื่องของการตกงาน เรื่องของราคาสินค้าในปัจจุบันและอนาคตที่จะเพิ่มสูงขึ้น จากการปรับขึ้นค่าแรง และการปรับขึ้นค่าแรงไม่ได้ทำให้ภาระหนี้น้อยลง หรือทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และความไม่แน่นอนทางด้านการจ้างงานของนายจ้าง ทั้งนี้ เห็นได้จากผลสำรวจถึงความมั่นคงในปี 2555 ที่แรงงานส่วนใหญ่มีความไม่แน่ใจในเรื่องของความมั่นคงของการมีงานทำเพิ่มขึ้นอย่างมาก

“ลูกจ้างเองก็มีความกังวลถึงสถานการณ์ทางด้านของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว แต่การปรับขึ้นค่าจ้างนั้น ลูกจ้างมองว่าจะเป็นส่วนที่ทำการชดเชยค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก่อนหน้านี้ แต่อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างยังคงมีความกังวลว่าในอนาคตระดับราคาสินค้า/ค่าครองชีพจะปรับตัวสูงมากกว่ารายได้ที่เป็นอยู่”นายวิชรกล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ