WHO คาดปีนี้มีกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ 2,500 ล้านคนทั่วโลก ป่วย 50-100 ล้านคน
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์อธิบดีกรมควบคุมโรคเปิดรณรงค์โรคไข้เลือดออกเนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียน (ASEAN Dengue Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มิถุนายน ทุกปี พร้อมกัน 10 ประเทศ ได้แก่ไทย มาเลเซีย เวียดนาม พม่า กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ลาว สิงคโปร์และบรูไน ซึ่งปีนี้ประเทศไทยจัดที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศอ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา จัดโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ส่งเสริมองค์กรทุกภาคส่วน ร่วมมือป้องกันโรคไข้เลือดออกพร้อมกันทุกจังหวัด
นายวิทยา กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาสาธารณสุขในกลุ่มประเทศอาเซียน เกิดจากยุงลาย แต่ละปีพบผู้ป่วยไม่ต่ำกว่าปีละ 200,000 ราย โดย 6 เดือนแรกปีนี้ มีรายงานผู้ป่วยใน 7 ประเทศสมาชิกได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว มาเลเชีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และเวียดนามรวม 69,213 ราย ตาย 57 ราย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนในปี 2553 ได้ให้ความสำคัญและกำหนดให้ วันที่ 15 มิถุนายนทุกปี เป็นวันไข้เลือดออกอาเซียน เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนในประเทศตระหนักในการป้องกันโรคและร่วมกันแก้ปัญหา ปีนี้นับเป็นปีที่ 2 กำหนดคำขวัญรณรงค์ คือ “เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย” หรือบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ ( Big Cleaning Day) ลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงฤดูฝน เป็นฤดูการระบาดของโรค มีแหล่งน้ำขัง ยุงลายสามารถวางไข่ได้มากกว่าฤดูกาลอื่น
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในส่วนของไทย กระทรวงสาธารณสุข เร่งควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างจริงจัง และต่อเนื่องตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด ซึ่งช่วงฤดูฝนเป็นช่วงขาขึ้นของโรคนี้ เน้นหนักทำลายยุงไม่ให้เป็นพาหะแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น โดยกำจัดลูกน้ำยุงตัวอ่อนและยุงตัวเต็มวัย ได้กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ให้เร่งรัดมาตรการปราบยุงลาย 5 ป. ได้แก่ ปิดฝาตุ่มน้ำ เปลี่ยนน้ำในภาชนะทุก 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมและปฎิบัติเป็นประจำ และขอความร่วมมือภาคีเครือข่ายสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน อาสาสมัครสาธารณสุข และประชาชน ช่วยกันดำเนินการอย่างพร้อมเพียงกันและถูกวิธี
ทางด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในกลุ่มประเทศอาเซียนปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-13 มิถุนายน 2555 ประเทศมีรายงานผู้ป่วยมากที่สุดคือฟิลิปปินส์ 28,163 ราย รองลงมาไทย 14,045 ราย ตาย 9 ราย มาเลเชีย 10,352 ราย ตาย 20 ราย เวียดนาม 10,296 ราย ตาย 7 ราย กัมพูชา 4,050 ราย ตาย 18 ราย สิงคโปร์ 1,529 ราย และลาว 778 ราย ตาย 3 ราย ส่วนใหญ่เกิดในเด็ก เชื้อมี 4 สายพันธุ์ ซึ่งสายพันธุ์ที่ระบาดแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นตลอดช่วงชีวิตของประชาชนทุกคน จะมีโอกาสป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกได้ถึง 4 ครั้ง ไม่ซ้ำสายพันธุ์ องค์การอนามัยโลกหรือฮู (WHO) ระบุว่าปีนี้ไข้เลือดออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก มีประชากรเสี่ยงติดเชื้อ 2,500 ล้านคน คาดจะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดปีละ 50-100 ล้านคน
ทั้งนี้โรคไข้เลือดออกพบได้ทุกวัย ส่วนใหญ่จะพบวัยเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี อาการเด่นของโรคไข้เลือดออก คือจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และไข้สูงติดต่อกัน 2 ถึง 7 วันปวดศีรษะเบื่ออาหาร อาเจียนส่วนใหญ่จะไม่ไอ ไม่มีน้ำมูกไหล ขอให้ประชาชนสังเกตลักษณะไข้ หากกินยาลดไข้ประเภทพาราเซตามอลแล้วหรือเช็ดตัวลดไข้แล้วไข้ไม่ลงใน 2 วัน ขอให้นึกถึงโรคไข้เลือดออก ให้พาไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ป้องกันอาการช็อคซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โดยในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้แพทย์เข้มงวดในการวินิจฉัย รักษาผู้ป่วย และหากพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ ให้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งมีประมาณ 1,200 ทีม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดทันที กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือกลุ่มเด็กเล็ก ทั้งในศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียนและอนุบาล เนื่องจากยุงลายจะกัดในเวลากลางวัน เมื่อให้เด็กนอนพักผ่อนในช่วงเวลากลางวัน ควรกางมุ้งด้วยทุกครั้ง และต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบริเวณใกล้เคียงอย่างต่อเนื่องเช่นปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำทุกชนิดเปลี่ยนน้ำในกระถางรองทุกๆ 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำหรือใส่ทรายกำจัดลูกน้ำยุงลายในภาชนะกักเก็บน้ำเป็นต้น
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วยการจัดนิทรรศการความรู้เรื่องไข้เลือดออก ประกวดวาดภาพระบายสี “บ้านเพาะรัก ไม่เพาะยุง” การประกวดคลิป “เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย” แจกพันธุ์ปลาหางนกยูง แจกทรายกำจัดลูกน้ำ ยาทากันยุง การปล่อยคาราวานบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ การรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยได้รับความร่วมมือจากแกนนำชุมชน นักเรียน อาสาสมัครสาธารณสุขและภาคประชาชน โดยในวันนี้มีการรณรงค์พร้อมกันทั่วประเทศ
กลุ่มเผยแพร่ สำนักงานเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค
โทรศัพท์: 0-2590-3862 / โทรสาร: 0-2590-3386