นายวินัย ลู่วิโรจน์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัตินี้ จะต้องมีกฎหมายลำดับรองทั้งสิ้น 14 ฉบับ ซึ่งออกไปแล้วในส่วนที่ไม่มีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก 6 ฉบับ ส่วนที่เหลืออีก 8 ฉบับที่มีผลกระทบต่อบุคคลภายนอกยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ โดยเหตุที่ทำให้เกิดความล่าช้ามาจากต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีการศึกษามาก่อนและมีรายละเอียดมากที่ต้องอาศัยข้อมูลทางวิชาการอ้างอิง หากเร่งรีบเกรงว่าจะเป็นช่องทางให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้าง เช่น กฎกระทรวงเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานของหญิงมีครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีตามมาตรา 21, กฎกระทรวงเกี่ยวกับค่าพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพและค่าทำศพ ตามมาตรา 25, การกำหนดอัตราค่าตอบแทน เป็นต้น ส่วนเรื่องการดำเนินการขณะที่ยังไม่มีคณะกรรมการตามมาตรา 50 ซึ่งระบุให้ บุคคลตามที่กำหนด ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการแทนไปก่อนได้ ซึ่งในการสรรหาขณะนี้ยังติดปัญหาที่วิธีการสรรหากรรมการที่เป็นตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งตามหลักการแล้วจะต้องใช้วิธีลงคะแนนแบบหนึ่งคนหนึ่งเสียง(one man one vote) แต่ใช้งบประมาณมาก ดังนั้น อาจต้องใช้ระบบไตรภาคี คือ ให้ตัวแทนเสนอรายชื่อ แต่การเลือกแบบนี้อาจจะได้ตัวแทนไม่ตรงตามที่ต้องการ โดยอาจจะขอความร่วมมือกับหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมในข้อมูลส่วนนี้ หากได้รับความร่วมมือจะทำให้ได้ข้อมูลทั้งกลุ่มนายจ้างและกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน เมื่อประกอบกับฐานข้อมูลเก่าของกรมจัดหางานและกลุ่มแรงงาน 5 ภาค แล้วน่าจะคลอบคลุมเกือบทั้งหมด โดยในวันที่ 21 มิถุนายนนี้จะมีการประชุมเรื่องดังกล่าวคาดว่าน่าจะมีความคืบหน้ามากยิ่งขึ้น
“เห็นด้วยที่จะให้ออกกฎกระทรวงโดยเร็ว คือเสนอหลักการไปก่อนแล้วปรับปรุงเพิ่มเติมรายละเอียดในภายหลัง และเน้นย้ำว่าเรื่องสำคัญที่ควรจะตราออกมาก่อน คือ เรื่องความปลอดภัย ซึ่งจะรับหน้าที่ผลักดันให้ออกมาเป็นลำดับแรก และยังเปิดโอกาสให้กลุ่มต่างๆมีแนวทางที่น่าสนใจ สามารถร่างและนำมาเสนอประกอบการพิจารณาออกกฎกระทรวงด้วย”
นายอภิมุข สุขประเสริฐ กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า กฎกระทรวงยังมาไม่ถึงขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งหากมาถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วคาดว่าจะพิจารณาใช้เวลาไม่นานประมาณ 1 -2เดือน เว้นแต่มีประเด็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัย โดยหลักของกฎหมายฉบับนี้ต้องการคุ้มครองแรงงานนอกระบบที่รับงานไปทำที่บ้านให้ได้รับค่าจ้างเท่าเทียมกับลูกจ้างในระบบ ส่วนประเด็นการออกกฎกระทรวงนั้น เห็นว่าต้องเร่งผลักดัน ส่วนระดับของความคุ้มครองนั้นสามารถปรับปรุงพัฒนา แก้ไขได้ ขณะที่เรื่องการสรรหาคณะกรรมการตามมาตรา 50 วรรคแรก เป็นมาตรการเร่งรัด ดังนั้นต้องเริ่มที่ต้องให้เกิดคณะกรรมการชุดแรกตามมาตรา 25ก่อนแล้วจึงจะเข้าสู่กระบวนการสรรหาโดยคาดว่าไม่น่าจะใช้เวลานาน
นายสุภัท กุขุน ที่ปรึกษาประจำกรรมาธิการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มุ่งดูแล 3 ส่วนคือค่าตอบแทน สวัสดิการ และคุณภาพชีวิต ขณะที่กรอบงานในมาตรา 3 ระบุงานที่รับไปทำที่บ้านหมายถึง งานที่ผู้จ้างงานในกิจการอุตสาหกรรมมอบให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านเพื่อนำไปผลิตหรือประกอบนอกสถานประกอบกิจการของผู้จ้างงานหรืองานอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง คาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะใช้เวลาอีกนานพอสมควร เนื่องจากต้องพิจารณาในรายมาตราและต้องมีกฎกระทรวงและระเบียบมารองรับ ส่วนตัวเห็นว่าควรจะเขียนควบคู่กันเพื่อให้กฎหมายดังกล่าวออกบังคับใช้ได้เร็ว อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในมาตรา24 ระบุถึงความรับผิดชอบในค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพแลค่าทำศพในกรณีที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านประสบอันตราย เจ็บป่วยหรือทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการใช้วัตถุดิบ อุปกรณ์และสิ่งอื่นที่ใช้ในการทำงานที่ผู้ว่าจ้างจัดหาหรือส่งมอบให้ ประเด็นคือจะต้องจ่ายตามหลักเกณฑ์ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงข้อน่ากังวลคือ บางกรณีอย่างกรณีพลุระเบิด นายจ้างจะนำค่าจ้างส่วนใดมาจ่าย ประเด็นนี้ยังไม่ได้คิดเผื่อไว้และหากลูกจ้างทุพพลภาพจะดูแลจะช่วยกันอย่างไร เรื่องนี้อาจจะขยายผลต่อไปถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกองทุนดูแลและคุ้มครองหรือไม่
นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ขอให้ส่งร่างกฎกระทรวงที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายพิจารณาเพื่อจะเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะของคปก. ให้กฎหมายดังกล่าวนำไปสู่ขับเคลื่อนต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.วิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม กรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคมต้องพิจารณา กล่าวว่า มี 3 ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคือ 1.ลักษณะการจ้างเป็นแบบใดเป็นลักษณะการจ้างทำของหรือเป็นสัญญาจ้างแรงงาน 2.ปัญหาที่มีกฎหมายแม่แล้วแต่กฎหมายลูกยังไม่ออกมาจึงไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ หากกลไกไม่สามารถทำได้อาจจะต้องหาวิธีการอื่น เพราะแม้จะตั้งกรรมการไม่ได้แต่การดำเนินการจะมีช่องว่างไม่ได้ หากมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ก็จำเป็นต้องตีความ ดังนั้นแม้ว่าจะไม่มีลายลักษณ์อักษรเรื่องค่าจ้าง หรือความปลอดภัย หากไม่มีก็ต้องเทียบเคียงได้ โดยสามารถนำกฎหมายแรงงานใช้เทียบเคียงได้ 3.เรื่องค่าตอบแทน ต้องไม่น้อยกว่าค่าจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งจะมี 2 ประเภทคือ เป็นไปตามมาตรฐานฝีมือ หรืออัตราค่าจ้างขั้นต่ำท้องที่ เป็น 3 ประเด็นสำคัญที่ต้องนำไปพิจารณาด้วย
นางพูนทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ ผู้แทนเครือข่ายผู้รับงานไปทำที่บ้าน กล่าวว่า ผู้รับงานไปทำที่บ้านมีปัญหาอย่างมากโดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพและความปลอดภัยรวมถึงอัตราค่าจ้าง และยังไม่แน่ชัดว่าจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่แม้ว่าจะมีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน แต่ค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นทุกปีในช่วงระยะ 10-15 ปีที่ผ่านมาพบว่า ค่าแรงไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงอยากเรียกร้องให้แต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน โดยเร็วเนื่องจากบทบาทของคณะกรรมการฯมีหน้าที่ในการกำหนดอัตราค่าตอบแทนและกฎหมายลูกต่างๆ เพราะจะเห็นว่าแรงงานประมาณ70-80% เป็นแรงงานหญิงซึ่งยังไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่ จึงอยากจะร้องขอให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้อย่างเร่งด่วนหากเป็นไปได้ไม่ควรเกิน 1ปี
นางสาวนุชนภา บำรุงนา กรรมการเครือข่ายแรงงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้แรงงานส่วนใหญ่เสียโอกาสด้านค่าแรง และประสบปัญหาความปลอดภัยในการทำงาน โดยแรงงานผู้รับงานไปทำที่บ้านหลายพื้นที่ประสบปัญหาสารพิษตะกั่วตกค้างในร่างกาย ขณะเดียวกันมีความเสี่ยงสูงที่ผู้สูงอายุและเด็กในบ้านจะได้รับสารพิษดังกล่าวด้วยอันเนื่องมาจากการรับงานมาทำที่บ้าน
ติดต่อ:
สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกล็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔